เคนยาเริ่มแบนการผลิต ขาย และใช้ถุงพลาสติกแล้ว ฝ่าฝืนปรับสูงถึง 1.2 ล้านบาท

0

ถุงพลาสติกโดยทั่วไปนั้นใช้เวลาย่อยสลายนาน 20 ถึง 1000 ปี และในระหว่างนั้นพวกมันอาจก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้ ปัจจุบันนี้หลายท่านอาจจะทราบความจริงข้อนี้ดี มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของการลดขยะพลาสติก นำมาซึ่งการตั้งกฎหมายควบคุมการใช้ถุงพลาสติกเพียงครั้งเดียวโดยไม่นำไปใช้อีก และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ กฎหมายว่าด้วยถุงพลาสติกที่ดูแล้วน่าจะ”โหด”ที่สุดในโลกก็มีผลบังคับใช้แล้วที่ประเทศเคนยา

ถุงพลาสติกกลายมาเป็นปัญหาของเสียที่น่ากังวลที่สุดใจสำหรับเคนยาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังเคลื่อนพลเข้ามาสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านทางปลา หรือแม้กระทั่งปศุสัตว์ซึ่งถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารแก่มนุษย์ ดังเช่นเหตุการณ์พบถุงพลาสติกกว่า 20 ถุงในกระเพาะวัวในโรงฆ่าสัตว์ในกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา

กฎหมายฉบับดังกล่าวบังคับให้การผลิต ขาย หรือแม้แต่การใช้ถุงพลาสติกกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ที่ผู้ฝ่าฝืนอาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปีหรือปรับไม่เกิน 38,000 เหรียญสหรัฐฯ ที่ตีเป็นเงินไทยแล้วเป็นจำนวนเงินกว่า 1.2 ล้านบาท ซึ่งแม้เห็นเป็นเงินบาทว่าน่าตกใจแล้ว ก็ยังต้องไม่ลืมด้วยว่า ประเทศเคนยานั้นมี GDP รายหัวน้อยว่าไทยราว 4 เท่าอีกด้วย

กฎหมายสุดโหดที่ถึงขั้นมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตั้งข้อหาให้ผู้ใช้ถุงพลาสติกนี้ย่อมไม่ได้ผ่านการพิจารณามาง่ายๆ สำนักข่าว The Guardian ของสหราชอาณาจักรรายงานว่าเคนยาเสนอร่างกฎหมายการแบนถุงพลาสติกนี้ 3 ครั้งในช่วงเวลา 10 ปี จึงออกมามีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาหลังระยะเวลาการปรับตัว 6 เดือนสิ้นสุดลง โดย Judy Wakhungu รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเคนยากล่าวว่าการบังคับใช้นั้นจะเริ่มจากผู้ผลิตและจัดจำหน่ายก่อนเป็นอันดับแรก

ในขณะเดียวกัน ในอีกมุมหนึ่งของประเทศ การสั่งแบนอย่างรุนแรงครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจและความกังวลเป็นอย่างมาก โฆษกของสภาอุตสหากรรมการผลิตของเคนยา Samuel Matouda ได้ออกมากล่าวว่าการแบนถุงพลาสติกตามกฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลให้เคนยาสูญเสียการจ้างงานกว่า 60,000 ตำแหน่งและทำให้โรงงาน 176 โรงงานต้องปิดตัวลง

การสั่งแบนถุงพลาสติกในครั้งนี้นอกจากจะส่งผลให้ผู้คนในประเทศต้องปรับตัวอย่างใหญ่หลวงแล้ว นักท่องเที่ยวเองก็ต้องทิ้งถุงพลาสติกสำหรับการช็อปปิ้งในร้านค้าปลอดภาษีไว้ที่สนามบินเช่นกัน

เรียกได้ว่าแตกหักกันไปเลยทีเดียวสำหรับถุงพลาสติกและประเทศเคนยา