สิงคโปร์วางแผนบังคับให้มีการบันทึกข้อมูลดิจิทัลทุกครั้งในการพบแพทย์

0

National Electronic Health Record (NEHR) หรือประวัติระเบียนผู้ป่วยอิเล็คทรอนิกส์แห่งชาติของสิงคโปร์นั้นเป็นโครงการที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2011 เพื่อรวมรวมประวัติการรักษาของประชาชนทุกคนในฐานข้อมูลดิจิทัล โดยเปิดให้สถานบริการสุขภาพต่างๆเข้ามาใช้งานและบันทึกข้อมูลเพิ่มได้ตามสมัครใจ แต่ในวันนี้สิงคโปร์กำลังเตรียมเสนอร่างกฎหมายบังคับให้ทุกหน่วยงานต้องบันทึกข้อมูลลงในระบบดังกล่าว

“ผู้ป่วยสามารถตระหนักถึงประโยชน์ของ NEHR ได้อย่างเต็มศักยภาพก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นเป็นไปอย่างครบถ้วน และการจะทำให้มีข้อมูลอย่างครบถ้วนได้นั้น ทุกหน่วยงานบริการด้านสุขภาพและมืออาชีพทุกคนจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการแบ่งปันข้อมูลด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพ Gan Kim Yong กล่าวถึงการผลักดันร่างกฎหมาย Healthcare Services Bill เพื่อบังคับให้สถานบริการด้านสุขภาพที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการด้านสุชภาพทุกรูปแบบเข้าบันทึกข้อมูลในระบบ NEHR

หลังจากการก่อตั้งในปี 2011 พบว่าระบบ NEHR นี้ได้รับการใช้งานน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ให้บริการภาครัฐเองที่มีการใช้งานน้อยกว่าร้อยละ 3 หรือจากผู้ให้บริการเอกชน เช่นคลินิกของแพทย์ทั่วไป (GP) ที่ชาวสิงคโปร์กว่า 80% เลือกใช้บริการ แต่กลับมีการบันทึกข้อมูลลง NEHR น้อยกว่า 70 คลินิก จาก 1,600 แห่งทั่วประเทศ

หนึ่งอุปสรรคในการแบ่งปันข้อมูลลงไปในระบบ NEHR นี้นั้นคือระบบของสถานบริการสุขภาพที่จำนวนไม่น้อย (ราวร้อยละ 20) ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบเป็นดิจิทัล และยังใช้การเขียนในการเก็บประวัติคนไข้

ในขณะเดียวกันสถานบริการสุขภาพที่มีระบบ IT เป็นของตัวเองอยู่แล้วนั้นก็จำเป็นต้องตรวจสอบว่าระบบที่มีอยู่สามารถทำงานร่วมกับ NEHR หรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ทางรัฐบาลสิงคโปร์จะจัดสรรงบประมาณ 20 ล้านดอลล่าร์สิงคโปร์เพื่อช่วยเหลือสถานบริการสุขภาพต่างๆให้สามารถเข้ามาใช้ระบบดังกล่าวได้

ข้อมูลประวัติการรักษาที่อยู่ภายในระบบ NEHR นี้จะสามารถเข้าถึงใช้โดยผู้ให้บริการด้านสุขภาพเท่านั้น และหากต้องการตรวจค้นข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูง แพทย์จะต้องทำการลงชื่อเข้าใช้ด้วยหมายเลขใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย และในขณะเดียวกันทางรัฐบาลเองก็จะทำการตรวจสอบการเข้าชมข้อมูลเป็นระยะๆผ่านวิธีการต่างๆ

หากร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบและมีการบังคับใช้งานจริง เป็นที่คาดการณ์ว่าสถานบริการพยาบาลต่างๆจะมีระยะเวลาราว 2 ถึง 3 ปีในการปรับปรุงระบบให้ตรงตามข้อบังคับ ซึ่งระบบดังกล่าวนอกจากจะเป็นการรวมศูนย์ข้อมวลผู้ป่วยไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกันแล้ว ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงประวัติทางการแพทย์ของตนผ่าน HealthHub ของรัฐบาลอีกด้วย