Crypto-anchor วิทยาการการเข้ารหัสแบบแลตทิซ กล้องจุลทรรศน์หุ่นยนต์ที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็นกลไกเบื้องหลัง ปัญญาประดิษฐ์ที่ปราศจากอคติเอนเอียง และคอมพิวเตอร์ควอนตัม จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในอีก 5 ปี
กรุงเทพฯ – 29 มีนาคม 2561: ไอบีเอ็มเปิดเผยรายงาน “ไอบีเอ็ม ไฟว์ อิน ไฟว์” (#IBM5in5) ฉบับล่าสุด ที่แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมและความก้าวล้ำทางวิทยาศาสตร์ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของคนในอีก 5 ปีข้างหน้า
ในภาพรวม นวัตกรรมทั้ง 5 แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวติ้งที่ก้าวล้ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประกอบด้วย
Crypto-anchor และบล็อกเชนจะผสานรวมเข้าด้วยกันเพื่อต่อกรกับผู้ที่ปลอมแปลง
ภายในห้าปีข้างหน้า เทคโนโลยี cryptographic anchor เช่น หมึกพิมพ์แม่เหล็กที่ทานได้หรือคอมพิวเตอร์จิ๋วที่ขนาดเล็กกว่าเม็ดเกลือ จะฝังอยู่ในวัตถุและอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และถูกนำมาใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีกระจายข้อมูล (distributed ledger) บนเครือข่ายบล็อกเชน เพื่อรับรองว่าวัตถุหรืออุปกรณ์จากต้นทางที่ไปถึงมือลูกค้าเป็นของแท้ เทคโนโลยีเหล่านี้จะปูทางไปสู่โซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความปลอดภัยด้านอาหาร รับรองว่าชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ เป็นของแท้ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม ระบุสิ่งของปลอมแปลง และแสดงแหล่งกำเนิดของสินค้าหรูหราต่างๆ
วิทยาการการเข้ารหัสแบบแลตทิซเพื่อต่อกรกับแฮคเกอร์
ไอบีเอ็มกำลังพัฒนาวิธีการเข้ารหัสเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างคอมพิวเตอร์ควอนตัม ซึ่งในวันหนึ่งจะสามารถเจาะโปรโตคอลการเข้ารหัสในปัจจุบันได้ทั้งหมด นักวิจัยของไอบีเอ็มได้เริ่มพัฒนาวิธีการเข้ารหัสแบบโพสต์ควอนตัมที่เรียกว่าวิทยาการการเข้ารหัสแบบแลตทิซ (lattice cryptography) และได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีดังกล่าวต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แบบใด หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ควอนตัมในอนาคต ก็จะไม่สามารถเจาะการเข้ารหัสรูปแบบนี้ได้ เทคโนโลยีการเข้ารหัสแบบแลตทิซนี้จะช่วยให้เราสามารถทำงานบนไฟล์หรือเข้ารหัสไฟล์ได้ โดยที่บรรดาแฮคเกอร์ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ได้เลย
กล้องจุลทรรศน์หุ่นยนต์ที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็นกลไกเบื้องหลังจะช่วยรักษาท้องทะเลเอาไว้
ในอีกห้าปี กล้องจุลทรรศน์อัตโนมัติขนาดเล็กที่มีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเป็นกลไกสำคัญ ที่ได้รับการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบนคลาวด์และถูกนำมาใช้งานทั่วโลก จะสามารถตรวจสอบสภาวะของน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของโลกที่กำลังถูกคุกคาม โดยจะติดตามข้อมูลสภาวะน้ำได้อย่างต่อเนื่อง บรรดานักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มกำลังพัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์จากแพลงก์ตอน ซึ่งถือเป็นเซ็นเซอร์ทางชีววิทยาตามธรรมชาติที่สามารถบ่งบอกสภาวะของน้ำ โดยจะมีการนำกล้องจุลทรรศน์เอไอไปไว้ในแหล่งน้ำในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของแพลงก์ตอนในแบบ 3 มิติ และนำข้อมูลนี้มาใช้คาดการณ์พฤติกรรมและสุขภาพของแพลงก์ตอน วิธีนี้จะมีประโยชน์ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น เหตุน้ำมันรั่วและการรั่วไหลของมลพิษจากแหล่งบนดิน อีกทั้งยังช่วยให้สามารถคาดการณ์ภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น เช่น ปรากฏการณ์ที่กลุ่มสาหร่ายที่มีขนาดเล็กมากผลิตสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ ระบบนิเวศ และผู้ที่บริโภคสัตว์น้ำเหล่านั้น (Red Tide) เป็นต้น
ปัญญาประดิษฐ์ที่มีอคติจะหมดไป และมีเพียงปัญญาประดิษฐ์ที่ปราศจากอคติเอนเอียงเท่านั้นที่จะดำรงอยู่
ภายในห้าปี จะมีโซลูชันใหม่ๆ สำหรับรับมือกับระบบปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริธึมที่มีอคติเอนเอียง ซึ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ขณะที่เรากำลังพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเชื่อถือได้ในปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องสำคัญควบคู่กันที่เราจะต้องพัฒนาและเทรนระบบเหล่านี้ด้วยข้อมูลที่เป็นกลาง ตรงไปตรงมา และปราศจากอคติในแง่เชื้อชาติ เพศ หรือความคิดความเชื่อใดๆ เป้าหมายดังกล่าวทำให้นักวิจัยของไอบีเอ็มเริ่มพัฒนาวิธีการลดอคติที่อาจมีอยู่ในชุดข้อมูลที่ใช้ในการเทรนระบบ เช่น การทำให้อัลกอริธึมเอไอใดๆ ที่เรียนรู้จากชุดข้อมูลเหล่านั้นสามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่องโดยที่มีอคติเอนเอียงน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มยังได้คิดค้นวิธีการทดสอบระบบปัญญาประดิษฐ์แม้ในช่วงเวลาที่ไม่มีข้อมูลสำหรับการเทรน
ระบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะกลายเป็นเทคโนโลยีหลัก
ในอีกห้าปีข้างหน้า ระบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางโดยผู้เชี่ยวชาญและนักพัฒนากลุ่มใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาที่ปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ได้ ควอนตัมจะเป็นเรื่องที่แพร่หลายในชั้นเรียนระดับมหาวิทยาลัย และอาจมีการเรียนการสอนแม้ในระดับมัธยมศึกษา นักวิจัยของไอบีเอ็มได้บรรลุเป้าหมายในเรื่องเคมีเชิงควอนตัมที่สำคัญ โดยประสบความสำเร็จในการจำลองพันธะของอะตอมในเบริลเลียมไฮไดรด์ (BeH2) ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการจำลองขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ควอนตัม ในอนาคตคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาที่ทวีความซับซ้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และก้าวไปไกลกว่าสิ่งที่เราสามารถทำได้โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบคลาสสิคเพียงอย่างเดียว
“รายงานไอบีเอ็ม ไฟว์ อิน ไฟว์ ในปีนี้ ไม่ได้นำเสนอเพียงนวัตกรรมล้ำสมัยที่น่าจับตามองเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการปฏิรูปโฉมหน้าอุตสาหกรรม และเปลี่ยนวิถีการทำงานในสาขาอาชีพอย่างชาญฉลาด” นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว
“ในอนาคตอันใกล้นี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน วิทยาการการเข้ารหัสแบบแลตทิซ และคอมพิวเตอร์ควอนตัม จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์ก้าวข้ามผ่านความท้าทายที่อาจไม่เคยทำได้ในอดีต ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวล้วนเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยไอบีเอ็มได้ทุ่มเทศึกษาและพัฒนาอย่างจริงจังมาโดยตลอด ทำให้เราภูมิใจอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเสริมศักยภาพให้แก่องค์กรธุรกิจและสังคมต่อไป” นางพรรณสิรีเสริม
###