–
ปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมต่างก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงานทั้งสิ้น รวมไปถึงสาขาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและเยียวยารักษาโรคอย่างอุตสาหกรรมการแพทย์ หนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของธุรกิจและภาคส่วนต่างๆ คือ เทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ (Automatic Identification) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ออโต้ไอดี (Auto ID)” ซึ่งถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือแสดงตัวตนของสิ่งมีชีวิตและวัตถุต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานที่ต้องอาศัยการบันทึกข้อมูลอย่างรวดเร็ว แม่นยำ แทนการนับชิ้นหรือจดบันทึกด้วยมือ และหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเรียกใช้ การตรวจสอบ เป็นต้น
ในขณะที่หลากหลายบริษัทและห้างร้านนำเทคโนโลยีออโต้ไอดีดังกล่าวมาใช้ร่วมกับขั้นตอนการผลิตสินค้า การควบคุมสินค้าคงคลัง และโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีออโต้ไอดีซึ่งคิดค้นและออกแบบมาอย่างชาญฉลาดในรูปแบบของฉลาก (Label) เครื่องพิมพ์ (Printer) เครื่องอ่าน (Reader) ฯลฯ มาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการรับ–จ่ายโลหิตโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยที่ต้องใช้เลือดเป็นหลักเช่นกัน เนื่องจากโลหิตที่ถูกลำเลียงเข้า–ออกสภากาชาดไทยมีจำนวนเป็นร้อยเป็นพันหน่วยในแต่ละวัน ดังนั้นวิธีการใช้เจ้าหน้าที่ตรวจนับ ป้อนข้อมูล และสั่งพิมพ์ฉลากทีละใบด้วยระบบแมนนวล (Manual) จึงไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานของศูนย์ฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป
การระบุข้อมูลด้วยฉลากถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในกระบวนการจัดการโลหิตของสภากาชาดไทย เพราะฉลากเป็นตัวบ่งชี้ข้อมูลและคุณสมบัติต่างๆ ที่จะติดอยู่กับถุงเลือดหรือหลอดแก้วเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ สเต็มเซลล์ (Stem Cell) ในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การบริจาคไปจนถึงการจ่ายให้กับโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการต่างๆ ด้วยเหตุนี้สภากาชาดไทยจึงต้องมั่นใจว่าฉลากที่ใช้ผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพ ทนทาน ไม่หลุดลอก เลอะเลือน หรือฉีกขาดง่าย และนำระบบออโต้ไอดีเข้ามาช่วยให้เกิดการบริหารจัดการงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำ เพราะถ้าหากเกิดข้อผิดพลาดหรือความล่าช้าในระหว่างการระบุข้อมูลฉลากเหล่านี้ นั่นอาจหมายถึงความเสี่ยงถึงชีวิตของผู้ป่วยได้
มร. ไดสุเกะ ทัตสึตะ หัวหน้ากลุ่มบริษัทซาโต้ ภูมิภาคเอเชีย และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซาโต้ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด และ บริษัท ซาโต้ ออโต้ไอดี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบัน ซาโต้ผลิตและให้บริการด้านโซลูชั่นออโต้ไอดีแบบบูรณาการให้แก่สภากาชาดไทยในรูปแบบของฉลากติดถุงเลือด และสติกเกอร์ติดหลอดแก้วบรรจุสเต็มเซลล์ซึ่งได้รับมาจากผู้บริจาค ซึ่งจะบ่งบอกข้อมูลสำคัญ ได้แก่ กรุ๊ปเลือด วันหมดอายุ และหมายเลขของเลือดหรือสเต็มเซลล์ที่บรรจุอยู่ภายใน รวมทั้งหมดกว่า 60 รูปแบบ นอกจากนี้ สภากาชาดไทยยังใช้โซลูชั่นเครื่องพิมพ์ฉลาก ซึ่งติดตั้งระบบ AEP (Application-enabled printing) ลิขสิทธิ์เฉพาะของซาโต้ ทำให้สามารถพิมพ์ฉลากได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่สามารถพิมพ์ฉลากได้อย่างรวดเร็วกว่า 5,000 ใบภายในเวลาไม่กี่นาที เปลี่ยนจากเดิมที่ต้องป้อนข้อมูลและสั่งพิมพ์ฉลากทีละใบ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและแรงงาน”
“ฉลากที่ใช้ติดบนหลอดสเต็มเซลล์สามารถรองรับอุณหภูมิได้ถึงต่ำสุดที่ -30 องศา และทนทานต่อการปั่นในน้ำยาแยกพลาสม่ากว่า 4,000 รอบได้ เนื่องจากผลิตจากกาวห้องเย็นชนิดพิเศษที่ผ่านการทดสอบคำนวณอุณหภูมิ และริบบอน (หมึกพิมพ์) คุณภาพสูงที่สามารถทนต่อความเย็นในระดับอุณหภูมิเย็นจัดได้ มีคุณสมบัติไม่หลุดลอกเมื่อสัมผัสสารเคมีทางการแพทย์” มล.ไดสุเกะ ทัตสึตะ กล่าวเสริม
นายอุดม ติ่งต้อย หัวหน้าฝ่ายผลิตน้ำยาแอนติซีรัมและผลิตภัณฑ์เซลล์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “การเจาะเลือดและสเต็มเซลล์และการจัดเก็บนอกจากจะต้องใช้บุคลากรที่ผ่านการฝึกฝนและมีความรู้ความชำนาญ เพื่อให้สิ่งที่จัดเก็บสะอาดปราศจากเชื้อโรค และอยู่ในสภาพที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ยังต้องอาศัยเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้คุณภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ขั้นตอนดำเนินไปอย่างราบรื่น รวมถึงป้องกันความผิดพลาดในขั้นตอนการลำเลียง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อผู้ป่วยได้ เนื่องจากกระบวนการบริจาคเลือดและสเต็มเซลล์ของสภากาชาดไทยต้องใช้ฉลากในปริมาณที่เยอะมากต่อวัน เราจึงต้องมีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถทำการทดสอบและส่งต่อเลือดและสเต็มเซลล์ไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วที่สุด หลังจากเริ่มใช้โซลูชั่นออโต้ไอดีของซาโต้นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา สภากาชาดสามารถร่นระยะเวลาในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบ่งชี้อัตลักษณ์ (Identification) ในการรับ–จ่ายโลหิต ส่วนประกอบของโลหิต และสเต็มเซลล์ลงได้ถึง 97%”
ซาโต้ คือผู้บุกเบิกในด้านการพัฒนาระบบบ่งชี้อัตโนมัติ หรือ ออโต้ไอดี อย่างครบวงจรที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่าสองทศวรรษและเครือข่ายคู่ค้าระดับโลก ซาโต้คือผู้ผลิตและผู้ให้บริการเทคโนโลยีออโต้ไอดีที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าในกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ในด้านผลงานที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ วัสดุ อุปกรณ์เสริม ไปจนถึงบริการบำรุงรักษาและบริการหลังการขาย
ล่าสุด บริษัท ซาโต้ ออโต้ไอดี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านระบบออโต้ไอดีจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมมากว่า 7 ทศวรรษ และมีเครือข่ายในกว่า 20ประเทศทั่วโลก ได้เปิดตัวโซลูชั่นใหม่ที่มีชื่อว่า PJM (Phase Jitter Modulation) เพื่อต้อนรับการเปลี่ยนผ่านของแวดวงการแพทย์ไทยสู่ยุค 4.0 โดยมุ่งเน้นการดำเนินการที่ไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลหิตเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโลหิตของไทยให้ได้มาตรฐานระดับโลก
โซลูชั่น PJM เป็นโซลูชั่นที่ซาโต้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบและอ่านค่าบนฉลากของถุงบรรจุเลือดและหลอดสเต็มเซลล์อย่างครบวงจร โดยนำ“เทคโนโลยีบ่งชี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification)” หรือ RFID มาใช้ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ป้าย และ อุโมงค์เครื่องอ่าน พร้อมสื่อสารกับผู้ใช้งานผ่านจุดเชื่อมต่อ (Interface) แบบต่างๆ ตลอดกระบวนการทำงาน
การทำงานระหว่างฉลากและเครื่องอ่านจะรับส่งกันในรูปแบบของคลื่นความถี่ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถอ่านข้อมูลบนฉลากได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวัตถุจำนวนมากซึ่งถูกจัดเรียงไว้ในลักษณะเป็นแถวหรือชั้นต่อกัน ช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนจากการเปิดภาชนะเพื่อตรวจสอบในระหว่างจัดส่ง รวมถึงความความคลาดเคลื่อนอันเกิดจากการอ่านข้อมูลโดยมนุษย์ ที่สำคัญคือระบบเครื่องอ่านอัตโนมัตินี้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของระบบอ่านข้อมูลป้ายโดยทั่วไปตรงที่สามารถอ่านและประมวลข้อมูล เช่น กรุ๊ปเลือด จำนวนของถุงเลือดที่ขนส่งมา หมายเลขของเลือด และวันหมดอายุ พร้อมทั้งแสดงผลได้อย่างแม่นยำ 100% แม้ในกรณีที่ถุงเลือดหรือหลอดสเต็มเซลล์ถูกวางซ้อนทับกันเป็นจำนวนมาก
อีกหนึ่งประโยชน์สำคัญของโซลูชั่น PJM คือสามารถรักษาคุณภาพของเลือดให้คงที่ได้จนถึงจุดหมายปลายทางของการขนส่ง กล่าวคือเมื่อเลือดหรือสเต็มเซลล์ถูกจัดส่งไปยังโรงพยาบาลที่หมาย เจ้าหน้าที่ผู้รับจะสามารถตรวจสอบถุงเลือดและสเต็มเซลล์ได้ง่ายๆ ในทันทีโดยการนำภาชนะหรือกระติกที่ใส่เลือดหรือสเต็มเซลล์มาไปผ่านอุโมงค์เพื่ออ่านข้อมูล โดยใม่ต้องเปิดภาชนะออกมาสัมผัสและตรวจสอบทีละชิ้น อันเป็นการสิ้นเปลืองเวลา ก่อให้เกิดการเจือปนได้ง่าย และทำให้อุณหภูมิของเลือดไม่คงที่ ซึ่งอาจทำให้เลือดหรือสเต็มเซลล์นั้นๆ เสื่อมคุณภาพจนไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ในที่สุด
เทคโนโลยี RFID ที่ใช้ในโซลูชั่นนี้จัดเป็นกลุ่มเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้กับวัตถุที่ต้องอาศัยความรัดกุมและแม่นยำในการตรวจสอบสถานะเป็นอย่างสูง ปัจจุบันโรงพยาบาลกว่า 100แห่งในประเทศออสเตรเลียใช้โซลูชั่นดังกล่าวในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกและกล้ามเนื้อ และมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตข้างหน้า บ้านเราและประเทศใกล้เคียงก็มีโอกาสที่จะนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ประโยชน์ทางการบริหารจัดการคลังเลือดเช่นกัน โดยซาโต้วางแผนที่จะเปิดตัวเทคโนโลยี PJM รุ่นล่าสุดสำหรับด้านเวชศาสตร์บริการโลหิตพร้อมทั้งนำเสนอผลทดสอบการทำงานของเครื่อง ณ งานประชุมนานาชาติ International Society of Blood Transfusion (ISBT) ที่ประเทศแคนาดา ในเดือนมิถุนายนปีนี้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการนำเอาระบบออโต้ไอดีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการโลหิตในปัจจุบันนั้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่การบริหารจัดการโลหิตในสภากาชาดไทยอย่างมากมาย ทั้งในด้านความรวดเร็วและความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล อีกทั้งยังช่วยให้สามารถควบคุมทั้งคุณภาพของเลือดในระหว่างการจัดแก็บและแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ นับเป็นอีกเครื่องพิสูจน์ว่าไม่ว่าธุรกิจหรือองค์กรของคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ตาม ระบบออโต้ไอดีจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินงานก้าวต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างแน่นอน
###