AI จะช่วยแก้ปัญหายากๆของโลกได้หรือไม่?

0

โลกของเรานั้นเปรียบเหมือนระบบที่สลับซับซ้อนที่ประกอบไปด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆซ้อนทับกันหลายต่อหลายชั้น เมื่อเกิดปัญหา โครงสร้างที่ยุ่งเหยิงเกี่ยวเนื่องกันต่อเป็นทอดๆนี้ทำให้การระบุต้นตอและวิธีการแก้ไขอย่างตรงไปตรงมานั้นเป็นไปได้ยาก ปัญหารถติดนั้นไม่ได้ขึ้นเพียงเพราะมีรถจำนวนมากเกินไป เช่นเดียวกับปัญหาความยากจนที่ไม่ได้เกิดจากสภาพเศรษฐกิจเท่านั้น ความซับซ้อนของปัญหายากๆที่ถูกเรียกว่า hard problems นี้คือสิ่งที่เราในฐานะมนุษยชาติเผชิญ และต้องทำการแก้ไขร่วมกัน

ปัญหาเช่นโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง ความยากจน ภาวะโลกร้อน หรือปัญหาอาชญากรรมยาเสพย์ติดนั้นเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายภายในโลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การพยายามและร่วมมือกันแก้ไขของนานาประเทศอาจช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ลงไป ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นดังกล่าวก็ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงคนหลายล้านคนทั่วโลก ในปัจจุบันเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรามีอย่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะช่วยอะไรกับปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง?

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อาจถูกนำมาแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดได้หลากหลาย เช่น การทำนายความเสี่ยงของโรค อุณหภูมิใน 5 ปี หรือทำนายปริมาณของรถบนท้องถนนในวันพรุ่งนี้ แต่การแก้ไขปัญหาที่ลึกลงไปกว่านั้นย่อมต้องการความเข้าใจอันดีต่อตัวละคร สภาพแวดล้อม และปฏิสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆภายในโดเมนของปัญหา ซึ่งหนึ่งในวิธีที่เราจะทำความเข้าใจระบบอันซับซ้อน คือการสร้างโมเดลจำลองระบบและปฏิสัมพันธ์ขึ้นมาเพื่อศึกษาหาคำอธิบายให้กับเรื่องยากๆเหล่านั้น

ที่กล่าวไปข้างต้นคือเป้าหมายที่ University of Pittsburgh ได้ตั้งไว้ในการเริ่มจัดงานสัมมนา Modeling the World’s Systems เพื่อเป็นพื้นที่ในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาโมเดลจำลองเพื่อการศึกษา วิเคราะห์ และวางแผนการจัดการกับระบบที่ซับซ้อนของโลก ที่เปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักธุรกิจ หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร หรือหน่วยงานรัฐบาลก็ตาม

ในงานเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยแห่งพิตต์สเบิร์กยังได้เปิดตัวสถาบัน Modeling and Managing Complicated Systems Institute (MoMaCS) ที่จะโฟกัสไปที่งานวิจัยที่นำชุดข้อมูลขนาดใหญ่มาประมวลผลผ่านระบบ AI หรืออัลกอริทึม machine learning เพื่อสร้างโมเดลจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าใจกลไกหรือระบบที่ซับซ้อนอย่าง โรคมะเร็ง ปัญหารถติด หรือระบบธุรกรรมขนาดใหญ่ในโลก ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อการค้นหาทางแก้ปัญหา หรือทำการพัฒนาระบบให้ดียิ่งๆขึ้นไป

แต่เดิมการแก้ปัญหา hard problem ในโลก อาจเป็นการแบ่งปัญหาออกเป็นส่วนย่อยแล้วจึงค่อยๆแก้ไปทีละชั้น วิธีการย่อยปัญหาลงนี้เป็นวิธีที่ดีที่ทำให้เราสามารถพัฒนาวิทยาการมาได้ถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่เทคโนโลยี AI มอบให้เราได้ในวันนี้ คือความสามารถในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลเกินขีดจำกัดของมนุษย์ ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางใหม่ในการเข้าใจและพยายามแก้ปัญหาแบบองค์รวม

ทุกอย่างในโลกนั้นเชื่อมต่อและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสลับซับซ้อน การได้ผู้ช่วยที่เรียนรู้ข้อมูลได้มากกว่าที่เคยหลายต่อหลายเท่า อาจช่วยให้เราเข้าใจโลก และจัดการกับปัญหาภายยากๆภายในโลกได้อย่างไม่เคยมาก่อน