5 Use-cases Blockchain ยอดนิยมในอุตสาหกรรมการผลิต

0

อุตสาหกรรม Supply Chain และการผลิตนั้นนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความตื่นตัวต่อเทคโนโลยี blockchain เป็นอย่างมาก แม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวจะยังไม่ได้มีการใช้งานจริงจังมากนัก องค์กรจำนวนไม่น้อยก็ได้เริ่มทดลองนำ blockchain มาพัฒนาโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ และการสำรวจของ Capgemini บริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ก็ได้เผย 5 use-case ยอดนิยมทื่อุตสาหกรรมการผลิตให้ความสนใจ ดังนี้

1. การจัดการสัญญากับ Supplier

ธุรกิจการผลิตขนาดใหญ่ย่อมต้องมีการติดต่อธุรกิจกับ supplier ที่หลากหลาย ซึ่งกว่าจะตกลงได้มาซึ่งสัญญาฉบับหนึ่งนั้น ก็ต้องผ่านขั้นตอนมากมายที่กินเวลายาวนาน มีการเจรจาหลายต่อหลายครั้ง และมีผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย หากธุรกิจจัดการกับกระบวนการนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมหมายถึงต้นทุนทางการเงิน เวลา และแรงกายที่ลดลง

Blockchain มีกลไก smart contract ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี ธุรกิจสามารถจัดตั้งเครือข่ายซึ่งรวบรวมคู่ค้าให้เข้ามาอยู่ในระบบที่เดียวกันที่ทั้งเชื่อถือได้และปลอดภัย แล้วใช้ smart contract สร้าง flow การทำงานที่เป็นไปโดยอัตโนมัติเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามเงื่อนไข ระบบเช่นนี้จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินการและแก้ปัญหาข้อติดขัดได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น เมื่อได้รับหลักฐานการส่งสินค้า ระบบก็จะรู้และแจ้งเตือนให้บริษัทผู้รับสินค้าทำการตรวจสอบคุณภาพ และเมื่อธุรกิจแจ้งว่าผลลัพธ์การตรวจสอบเป็นที่น่าพอใจ ระบบก็จะดำเนินขั้นตอนการชำระเงินต่อโดยอัตโนมัติทันที

2. Digital Thread

Digital thread นั้นหมายถึงระบบโฟลว์ข้อมูลที่ธุรกิจสามารถตรวจสอบทุกรายละเอียดของ product lifecycle ได้ในที่เดียว ระบบนี้ไม่เพียงแต่เก็บข้อมูลของขั้นตอนการออกแบบและการผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงขั้นตอนอื่นๆเช่นการนำไปใช้งานและการซ่อมบำรุงด้วย

ระบบเช่นนี้นั้นเป็นการเชื่อมต่อหลายๆสิ่งเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบงานของบริษัทผลิต เครื่องจักร ระบบ IoT ที่คอยบอกสถานะของขั้นตอน และระบบงานของลูกค้าผู้นำสินค้าไปใช้ ทำให้มีความซับซ้อนสูง และยากที่จะรวมมาอยู่ในที่เดียวกันได้ เทคโนโลยี blockchain จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือแชร์ข้อมูลที่ทุกฝ่ายสามารถเชื่อถือได้ในความถูกต้องของข้อมูลและความปลอดภัย ซึ่งหากไม่ใช่เทคโนโลยีนี้แล้ว อาจเป็นการยากที่องค์กรหลายฝ่ายจะร่วมมือกันในลักษณะนี้

3. ตรวจสอบขั้นตอนการผลิต

ในปัจจุบันธุรกิจการผลิตหลายแห่งมีการกระจายงานผลิตไปยังบริษัทคู่ค้าอื่นๆแล้วจึงนำชิ้นส่วนทั้งหลายมาประกอบกันเป็นผลิตภัณฑ์อีกทีหนึ่ง เช่น บริษัท OEM ที่ใช้บริการการผลิตชิ้นส่วนจากบริษัท EMS (Electronics manufacturing services) อื่นๆ ขั้นตอนการผลิตเช่นนี้ทำให้การควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบสถานะการผลิตแบบ real-time ผ่านช่องทางออนไลน์นั้นเป็นไปได้ยาก

นี่คืออีกหนึ่งกรณีที่ blockchain สามารถเข้ามาช่วยในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหลายองค์กรเข้าด้วยกันเพื่อช่วยในการติดตามสถานะและเพิ่มความโปร่งใสโดยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสามารถเลือกรักษาความปลอดภัยและเปิดปิดการเข้าถึงข้อมูลตามที่ต้องการได้

4. ติดตามสถานะการซ่อมบำรุงสินทรัพย์

เทคโนโลยีใหม่ๆเช่น IoT นั้นอาจทำให้ธุรกิจเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ได้ง่ายกว่าเก่า แต่นั่นยังไม่นับรวมในกรณีของการดูแลรักษาระบบที่มีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีเช่นนี้ การใช้ blockchain เข้ามาร่วมด้วยนั้นดีกว่ามาก ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวไปว่า blockchain นั้นช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเชื่อมต่ออยู่ในเครือข่ายเดียวกันและแชร์ข้อมูลถึงกันได้อย่างสะดวกใจ อีกทั้งยังช่วยรักษาความจริงของข้อมูลไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสำคัญมากต่อองค์กรที่มีมาตรฐานในการซ่อมบำรุงสูง

5. ตรวจสอบสถานะการเรียกคืนสินค้า

ผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นที่ขายออกไปให้ลูกค้านั้นมีส่วนประกอบอะไรบ้าง ธุรกิจอาจสามารถบอกได้คร่าวๆถึงแหล่งที่มา แต่หากผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นมีการผลิตเป็นจำนวนมากและรอบการผลิตหลายครั้ง การระบุถึงชิ้นส่วนที่ใช้ก็ซับซ้อนขึ้นมาก และหากสิ้นส่วนใดชิ้นส่วนนึ่งมีปัญหาต้องถูกเรียกคืน บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์อาจไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าการเรียกคืนจะส่งผลกระทบกับสินค้าชนิดใดบ้าง

Blockchain นั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการบันทึกว่ากว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นนั้นใช้ชิ้นส่วนแบบไหน และมีขั้นตอนการผลิตอย่างไรก่อนจะส่งไปถึงมือลูกค้าบ้าง การใช้ blockchain ในลักษณะนี้จึงสามารถเข้ามาช่วยให้ผู้ผลิตสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าชิ้นใดต้องเรียกคืน หรือชิ้นใดไม่ต้อง