5 ข้อคิดหลังคุยกับ Zanroo – การใช้งานคลาวด์​ การพัฒนาทักษะ และคำแนะนำสำหรับธุรกิจที่กำลังสนใจคลาวด์

0

ในงาน AWS re:Invent 2018 ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทีมงาน ADPT มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณอุดมศักดิ์ ดอนขำไพร CTO จากบริษัท Zanroo เจ้าของแพลตฟอร์ม Social Monitoring ฝีมือคนไทย ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง และได้สรุปมาให้ได้อ่านกัน 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

คุณอุดมศักดิ์ ดอนขำไพร CTO แห่ง Zanroo 

1. ขึ้น Cloud แล้วต้องมีความเสถียรและกลไกในการ Monitor ระบบที่ดี

Zanroo เป็นเช่นธุรกิจสมัยใหม่หลายรายที่มีการวางแผนใช้ระบบคลาวด์ตั้งแต่เริ่มต้น และแม้การดำเนินการแบบ Cloud-first นี้จะช่วยให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในเชิงโครงสร้าง IT ที่ช่วยลดภาระด้านการบำรุงรักษาระบบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจจะสามารถปล่อยระบบโดยไม่ดูแลเลยโดยสิ้นเชิง

ในระยะเริ่มแรก Zanroo เริ่มจากการใช้เครื่อง Instance บนระบบคลาวด์เพียง 40-50 เครื่อง ซึ่งระบบก็ทำงานได้ดีไม่มีปัญหา แต่ในเวลาต่อมาเมื่อ Zanroo ขยายระบบออกไปถึงหลัก 800 เครื่อง กลับพบว่าระบบทำงานได้ไม่เสถียร มีเครื่องที่ล้มเหลวอย่างไม่ทราบสาเหตุ และเฝ้าระวังเหตุการณ์ได้ยาก

Zanroo พบว่าปัญหานี้ทำให้พวกเขาต้องสิ้นเปลืองทั้งแรงคน เวลา ค่าใช้จ่าย รวมไปถึงเสียความน่าเชื่อถือต่อลูกค้า Zanroo จึงเริ่มมองหาผู้ให้บริการคลาวด์รายใหม่ที่มีมาตรฐานการให้บริการสูง การันตีถึงความสเถียรของระบบ และมีระบบสำหรับ Monitor จนในที่สุดก็ได้ตกลงเลือกใช้ Amazon Web Service (AWS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่มีเทคโนโลยีและมาตรฐานตรงตามความต้องการ อีกทั้งยังมีทีมที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญที่เข้ามาช่วยวางแผนในการย้ายไประบบใหม่อย่างไม่ติดขัดภายในเวลา 3 เดือน

2. ต้องเริ่มมองฟีเจอร์ใหม่ๆในคลาวด์ แม้ยังไม่อยู่ใน Region ที่ใช้งาน

ผู้ให้บริการคลาวด์โดยเฉพาะรายใหญ่ๆในปัจจุบันนั้นมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่น่าสนใจและเข้ามาลดภาระของธุรกิจได้มาก ทว่าเมื่อเริ่มเปิดบริการให้ใช้งาน ก็มักเริ่มใน Region แถบทวีปอเมริกาเหนือหรือยุโรปก่อน ทำให้ธุรกิจในเอเชียมีความล่าช้าในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านั้นเข้ามาใช้งาน (เนื่องจากการติดต่อข้าม Region นั้นอาจทำให้ระบบซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)

Zanroo เองกำลังวางแผนที่จะทลายข้อจำกัดนี้ด้วยการเริ่มเข้าไปทดลองเทคโนโลยีที่มีแต่ใน Region ทวีปอื่นบ้าง (และอาจมองหาลูกค้าใหม่ไปพร้อมๆกัน) ทั้งนี้ก็เพื่อให้ Zanroo มีความพร้อมเต็มที่ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเมื่อเปิดให้บริการใน Region ฝั่งเอเชีย

3. มองจุดแข็งตัวเองให้ออกแล้วต่อยอดจากตรงนั้น

ปัจจุบัน Zanroo นั้นมีการให้บริการลูกค้าในประเทศไทยราว 60% และประเทศอื่นๆในเอเชียราว 40% ข้อได้เปรียบของพวกเขาที่มีต่อแพลตฟอร์มอื่นๆที่ทำงานในลักษณะเดียวกันนั้นคือการให้บริการในภาษาที่ลูกค้าท้องถิ่นใช้งานอยู่จริงๆ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถดึงดูดลูกค้าได้จากทั้งประเทศอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์

Zanroo ตระหนักดีถึงข้อได้เปรียบตรงนี้และยึดมาเป็นจุดแข็งของธุรกิจของพวกเขา Localization กลายมาเป็นประเด็นสำคัญในการขยายธุรกิจไปยังลูกค้าองค์กรในประเทศใหม่ๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าสนใจที่สตาร์ทอัพหลายๆรายอาจมองข้ามไป

4. ความรู้ที่ดีคือความรู้ที่นำมาใช้งานได้

หน้าที่หนึ่งของนักพัฒนาซอฟต์แวร์คือการตามเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วให้ทัน Zanroo ได้มีการสนับสนุนให้สมาชิกภายในทีมเรียนรู้ทักษะใหม่ๆอยู่เสมอรวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีคลาวด์ และพวกเขาพบว่าวิธีการเรียนรู้ที่ได้ผลและเกิดประโยชน์จริงมากที่สุด คือการเรียนรู้ที่เริ่มจากโจทย์ในชีวิตจริง

ความรู้ที่สมาชิกทีมได้รับมาอาจไม่มีประโยชน์อะไรนักเมื่อมันไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานส่วนที่รับผิดชอบอยู่ได้ Zanroo จึงสนับสนุนให้นักพัฒนาเริ่มจากการคิดถึงปัญหาที่ต้องการแก้ไข จากนั้นจึงค่อยไปหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลหรือคอร์สเรียนตามลำดับ การทำเช่นนี้ทำให้สมาชิกทีมรู้สึกว่าการพัฒนาตนเองเป็นเรื่องที่มีประโยชน์และน่าสนใจมากกว่าการเรียนเพื่อให้ได้เรียนเท่านั้น

5. ธุรกิจที่กำลังสนใจคลาวด์ควรลองมอง Serverless, ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ, และมุ่งไปที่ฟีเจอร์ที่ต้องการมากกว่าเทคโนโลยี

Zanroo ได้ให้คำแนะนำทิ้งท้ายสำหรับสตาร์ทอัพหรือธุรกิจที่กำลังสนใจเข้ามาใช้ระบบคลาวด์ 3 ข้อ ได้แก่

  1. ลองศึกษา ServerlessServerless นั้นเป็นเทคโนโลยีบนคลาวด์ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างฟังก์ชันการใช้งานได้โดยไม่ต้องกังวลถึงการติดตั้งหรือดูแลเครื่อง Instance เบื้องหลัง (หรือที่เรียกกันว่าระบบ Backend) ดังนั้นจึงเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจใหม่ๆที่ไม่ได้มีระบบที่ซับซ้อนและต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว
  2. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญคลาวด์ในการวางระบบ – ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถแนะนำถึงการออกแบบระบบที่ดี และการเลือกใช้งานเทคโนโลยีต่างๆที่เหมาะสมกับความต้องการและเงื่อนไขของธุรกิจได้ เช่นในกรณีของ Zanroo การร่วมวางแผนกับทีมงาน AWS ก็ช่วยให้พวกเขาสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งานคลาวด์ไปได้อย่างมาก
  3. โฟกัสที่ฟีเจอร์มากกว่าเทคโนโลยีหรือ Architecture เบื้องหลัง – การใช้เทคโนโลยีนั้นอาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อนต้องการความใส่ใจมาก แต่ธุรกิจก็ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยธุรกิจสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการ ธุรกิจอาจลองมองหาเทคโนโลยีที่ให้บริการในรูปแบบที่ต้องดูแลน้อย เพื่อนำเวลาไปโฟกัสกับสิ่งที่ต้องการจะ Deliver จริงๆให้กับลูกค้า

Zanroo นั้นเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Social Monitoring ของไทย ปัจจุบันพวกเขามีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศจากหลากหลายธุรกิจ เช่น แบรนด์ต่างๆ, ธุรกิจ B2C, และ FMCG นอกจากเครื่องมือ Social Monitoring ที่ชื่อ Zanroo Listening แล้ว Zanroo ยังมีแพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางสื่อโซเชียล Zanroo Desk และแพลตฟอร์มสำหรับทำแคมเปญการตลาด Zanroo Campaign อีกด้วย