มาจนถึงตอนนี้ผู้ที่ติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอคงมีน้อยรายนักที่จะไม่เคยได้ยินชื่อของเทคโนโลยี Blockchain ที่ได้รับการขนานนามว่าจะเข้ามาเปลี่ยนการดำเนินการธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง ปี 2019 นี้เราก้าวสู่ปีที 10 หลังจากเครือข่าย Bitcoin ได้เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่รายงานล่าสุดจาก McKinsey ได้เผยว่า Blockchain ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่หลายฝ่ายได้คาดหวังไว้
Blockchain และสกุลเงิน Cryptocurrency นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพูดถึงและจับตามองมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีผู้จุดประกายเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมการเงินก่อนจะค่อยๆแพร่กระจายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การแพทย์ ลอจิสจิกส์ หรือแม้แต่ศิลปะ เราได้เห็น Use Case บล็อคเชนออกมาเรื่อยๆหลายร้อยกรณี
และในขณะเดียวกันก็มีการลงทุนในเทคโนโลยีนี้มหาศาล ในปี 2017 มีการระดมทุนในสตาร์ทอัพ Blockchain ไปกว่า 1,000 ล้านเหรียญ และมีรายงานว่าอตุสาหกรรมการเงินลงทุนไปกับการทดลอง Blockchain ถึง 1,700 ล้านเหรียญต่อปี
Blockchain ได้ผ่านจุดสูงสุดที่เต็มไปด้วยการลงทุน สัญญาณที่ดีในการพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยี และความสนใจจากธุรกิจ ทว่าล่าสุดก็เริ่มมีสัญญาณว่าธุรกิจที่เคยเชื่อมั่นใน Blockchain เต็มที่ก็เริ่มที่จะลังเลเสียแล้ว เนื่องจากความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้นั้นไม่มากอย่างที่คาด
Blockchain นั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการเริ่มทดลองพัฒนาระบบ Proof-of-Concept (PoC) ในหลายๆอุตสาหกรรม แต่ความเป็นจริงก็คือ Blockchain ยังเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สเถียรนักเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ มีค่าใช้จ่ายสูง และมีความซับซ้อนมาก
หากมองจากมุมมองของทฤษฎี Lifecycle แล้ว แม้เวลาจะผ่านมาหลายปี Blockchain ก็ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในระยะเริ่มแรก (Pioneer) ทั้งนี้ก็เพราะ Use Case ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแค่ไอเดียหรืออยู่ในช่วงทดลองเท่านั้น หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Blockchain ไม่ได้ไปต่อเช่นนี้ ก็คือการเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากเทคโนโลยีอื่นๆ เช่นในกรณีของ Payment ที่นับว่าเป็นหนึ่งใน Use Case หลัก ทุกวันนี้ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่ๆที่ไม่ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนขึ้นมามากมาย และผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ดั้งเดิมอย่าง SWIFT ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สามารถดำเนินการธุรกรรมได้เร็ว และโปร่งใสยิ่งขึ้น
การติดหล่มอยู่ในระยะแรกเริ่มและไม่สามารถขยายการใช้งานออกไปได้ในวงกว้างนี้ส่งผลให้ธุรกิจหลายรายเริ่มมีความลังเลกับเทคโนโลยี Blockchain ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 เป็นต้นมา ผู้คนจากอุตสาหกรรมการเงินหลายรายเริ่มรู้สึกว่า Blockchain นั้นยังใหม่เกินไป ไม่พร้อมกับการใช้งานในระดับองค์กร หรือไม่มีความเป็นต้องใช้ ระบบ Proof of Concept หลายชิ้นเพิ่มประโยชน์ได้ไม่มาก (หากเทียบกับเทคโนโลยีเดิมๆ เช่น Cloud) และเริ่มมีความไม่ไว้วางใจว่า Blockchain จะคุ้มในการใช้งานจริง
อีกหนึ่งประเด็นที่กังวลกันมากก็คือการที่ Blockchain ต้องมีเครือข่ายเป็นของตัวเองโดยเฉพาะ ซึ่งหากต้องการจะใช้ระบบข้ามบริษัทแล้ว ก็ต้องมีการตกลงกันถึงมาตรฐานและการร่วมมือกันมาก การเป็นผู้นำในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้นั้นเป็นภาระ และหลายๆองค์กรก็มีภารกิจ Digital Transformation ที่เร่งรัดกว่าอยู่แล้ว
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา สถาบันการเงินหลายแห่งได้ปรับกลยุทธ์ Blockchain ของตัวเองให้มีการพิจารณามากขึ้นในการลงทุนพัฒนาระบบ PoC หลายๆเจ้าหันมาโฟกัสที่ PoC เพียง 1-2 โปรเจกต์แทนที่จะมีหลายสิบหรือร้อยโครงการเหมือนก่อน โดยพวกเขาได้โยกการลงทุนและความสนใจไปในประเด็นที่เกี่ยวกับการดูแลระบบ Compliance กับกฎเกณฑ์ และการจัดการเครือข่าย
McKinsey เชื่อว่าในตอนนี้คุณค่าของ Blockchain นั้นมีใน 3 ด้านใหญ่ๆ คือ
- แอปพลิเคชันเฉพาะ – ปัญหาบางกรณีนั้น Blockchain เข้ามาแก้ได้อย่างเหมาะสม สร้างประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และป้องกันการทุจริต เช่น การรวบรวมข้อมูลและติดตามที่มาที่ไป เจ้าของ และสถานะ ของข้อมูล เช่นแอปพลิเคชันประกัน, Supply Chain เป็นต้น
- คุณค่าด้าน Modernization – สำหรับธุรกิจที่วางกลยุทธ์ไปที่การปรับองค์กรให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่บล็อคเชนดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการทำ Digital Transformation เช่นโซลูชันสัญญาซื้อขายต่างประเทศ และโซลูชัน Payment แต่บ่อยครั้งที่ Blockchain เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่า และระบบอาจไม่ใช่ Distributed Ledger สมบูรณ์ด้วย
- คุณค่าด้านชื่อเสียง – Blockchain ถูกหลายบริษัทนำมาใช้เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ทางนวัตกรรมให้กับบริษัท ซึ่งส่วนมากก็ไม่ได้มีความสนใจพัฒนาบล็อคเชนมาใช้งานในธุรกิจจริงนัก
คำถามก็กลับมาที่ว่า Blockchain จะสามารถทำลายกำแพงและก้าวเข้าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างกว้างขวางได้หรือไม่ เทคโนโลยีบล็อคเชนยังไม่ได้รับความเข้าใจอันดีนัก และมีประเด็นด้านการกำกับดูแล ด้านเทคนิค และความปลอดภัยที่ธุรกิจต้องตอบให้ได้อีกมากมาย
การทำให้นวัตกรรม Blockchain ก้าวไปสู่ระยะที่ 2 (Growth) นั้น ต้องอาศัยเหตุผลที่ดี เงินทุน และการเพิ่มการจัดตั้งมาตรฐาน โดย McKinsey เชื่อว่า การจะทำเช่นนั้นได้ มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- องค์กรจะต้องเริ่มพัฒนาโซลูชันที่ปัญหา – หากไม่มีปัญหาที่สมเหตุสมผล โซลูชันที่ใช้งานได้จริงก็จะไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจควรคิดให้แน่ใจด้วยว่า Blockchain เป็นทางออกที่เรียบง่ายที่สุดของปัญหา ควรพิจารณาถึงความเสี่ยง ประโยชน์ที่จะได้รับ และความพร้อมของบุคลากรอย่างตรงไปตรงมาด้วย
- จะต้องมีกรณีการใช้งานในธุรกิจจริง และมีเป้าหมาย ROI – ธุรกิจจะต้องสร้างความชอบธรรมให้การลงทุนพัฒนา Blockchain และคิดให้ถี่ถ้วนถึงจุดยืนของตัวเองในตลาด ที่รวมไปถึงว่า ธุรกิจจะสามารถโน้มน้าวธุรกิจอื่นๆให้มาร่วมใน Ecosystem จัดตั้งมาตรฐาน และจัดการกับการกำกับดูแลได้มากน้อยเพียงใด
- องค์กรต้องมีความมุ่งมั่นในการใน Blockchain เข้ามาใช้ – เมื่อเลือกปัญหาที่ต้องการแก้ได้แล้ว องค์กรก็ควรวางแผนถึงการดำเนินงานต่อไปว่ามีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ ควรมีขั้นตอนในการพัฒนาและนำไปใช้อย่างไร วัดผลอย่างไร รวมไปถึงจะต้องมีการจัดทีมทำงาน ขั้นตอนการนำไปใช้ การดูแลระบบ และการทำการตลาดเพื่อส่งเสริมโครงการ Blockchain ของตนเต็มที่
ท้ายที่สุดแล้ว Blockchain ก็ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างในโลกธุรกิจ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจจะช่วยผลักดันเทคโนโลยีนี้ให้เติบโตด้วยไอเดียที่สร้างสรรค์และก่อให้เกิดประโยชน์จริงกับทั้งลูกค้าและธุรกิจได้หรือไม่ โดยข้อคิดที่ McKinsey แนะนำให้นึกถึงเสมอก็คือ คุณค่าของ Blockchain นั้นจะปรากฏก็ต่อเมื่อมันเป็นหนทางที่เรียบง่ายที่สุดในการแก้ปัญหา