เครื่องมือใหม่ที่พัฒนาโดยทีมวิจัยจาก the USC Information Sciences Institute (USCISI) อาจเป็นตัวช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของคลิปปลอม deepfake ได้ โดยเครื่องมือนี้จะตรวจจับการเคลื่อนไหวของใบหน้าและศีรษะ และสิ่งแปลกปลอมในไฟล์เพื่อดูว่าวีดีโอนั้นถูกปลอมขึ้นมาหรือไม่ จากงานวิจัยที่เผยแพร่โดย the Computer Vision Foundation พบว่า ระบบสามารถตรวจพบวีดีโอที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์ได้แม่นยำถึง 96 เปอร์เซ็นต์
โมเดลที่ใช้ตรวจจับคลิปปลอมทั่วไปวิเคราะห์วีดีโอแบบเฟรมต่อเฟรมเพื่อหาจุดที่มีการดัดแปลง แต่เทคนิคใหม่ที่สร้างโดยทีมนักวิจัย USC ใช้เวลาและการคำนวณทางคอมพิวเตอร์ที่น้อยกว่านั้น โดยระบบจะรีวิวดูวีดีโอทั้งหมดครั้งเดียว ซึ่งทำให้ระบบประมวลผลข้อมูลได้เร็วขึ้น จากนั้นจึงนำเฟรมวีดีโอวางซ้อนกันและตรวจหาความไม่สอดคล้องกันจากการขยับของคนในคลิป ซึ่งอาจจะเป็นการขยับเปลือกตาเล็กน้อยหรือการเคลื่อนไหวท่าทางแปลกๆ ที่นักวิจัยเรียกว่า “softbiometric signature (สัญลักษณ์ทางข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล)”
ทีมนักวิจัยใช้ชุดข้อมูลวีดีโอที่ผ่านการดัดแปลงมาประมาณ 1,000 คลิป ในการฝึกเครื่องมือนี้ ทำให้ระบบค่อนข้างชำนาญในการระบุคลิปปลอมของนักการเมืองหรือเหล่าผู้มีชื่อเสียง นี่จึงอาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2563 การหยุดการแพร่ระบาดข้อมูลเท็จจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่ง