รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองกำลังจะออกสู่ถนนแล้ว แต่ยังมีความท้าทายที่คอมพิวเตอร์ต้องใช้พื้นที่บนถนนร่วมกับคน AI มีแนวโน้มจะเหมารวมว่าคนขับทุกคนขับรถแบบเดียวกันแบบที่คาดการณ์ได้ แต่คนขับรถต่างก็รู้ดีว่าพอออกถนนจริง โดยเฉพาะถนนที่มีการจราจรหนาแน่น คนขับไม่ได้เป็นเช่นนั้นอย่างที่ AI คาดการณ์
งานวิจัยใหม่จากห้องปฏิบัติการ Computer Science and Artificial Intelligence Lab (CSAIL) แห่ง MIT ศึกษาปัญหาวิธีที่รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองสามารถคาดการณ์พฤติกรรมคนขับคนอื่นบนท้องถนน การคาดการณ์ต้องอาศัยการรับรู้ทางสังคมระดับหนึ่งซึ่งยากสำหรับระบบ ดังนั้น นักวิจัยใช้เครื่องมือจากจิตวิทยาสังคมมาช่วยระบบคัดแยกประเภทพฤติกรรมคนขับ นั่นคือ แบบเห็นแก่ตัว และแบบไม่เห็นแก่ตัว
ระบบได้สังเกตพฤติกรรมการขับรถของคนขับ จากนั้นจึงสามารถคาดการณ์การเคลื่อนที่ของรถคันอื่นได้เมื่อรถต้องร่วมเลนกันหรือเลี้ยวฉับพลันแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งมีความแม่นยำมากขึ้นกว่าซอฟต์แวร์รถอัตโนมัติทั่วไปถึง 25 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมมนุษย์นั้นสำคัญต่อความปลอดภัยเมื่อรถยนต์อัตโนมัติและคนขับต้องใช้ถนนร่วมกัน อย่างกรณีของรถขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Uber ที่ชนคนเดินเท้าเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วนั้นไม่มีความสามารถในการตรวจจับคนเดินข้ามถนนได้
Wilko Schwarting นักศึกษาปริญญาโทผู้นำงานวิจัยนี้กล่าวว่า “การทำงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับมนุษย์นั้นหมายถึงการต้องหาเจตนาเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของพวกเขาได้ แนวโน้มของมนุษย์ว่าจะเป็นผู้ให้ความร่วมมือหรือผู้ต้องการแข่งขันดูได้จากวิธีการขับรถ ในงานวิจัยนี้เราศึกษาทำความเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถหาปริมาณได้หรือไม่”
งานวิจัยยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกก่อนที่จะนำไปใช้จริงบนถนน ขั้นตอนต่อไปคือ ทีมพัฒนาจะประยุกต์ใช้โมเดลนี้กับผู้ร่วมใช้ท้องถนนประเภทอื่น เช่น คนเดินทางเท้า คนขี่จักรยาน และระบบหุ่นยนต์อื่นๆ