ฟ้าผ่ามักเกิดขึ้นซ้ำสองในจุดเดิมได้เสมอ สำหรับชาวนาแล้ว ฟ้าผ่าทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่ทำลายพืชผลมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ได้ อีกทั้งยังคร่าชีวิตผู้คนในแต่ละปีมากกว่าพายุทอร์นาโดหรือเฮอร์ริเคนเสียอีก แค่การสังเกตเมฆครึ้มอาจจะไม่พออีกต่อไปเพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าฟ้าจะผ่าลงมาเมื่อไร ทีมนักวิจัยจากสวิตเซอร์แลนด์อาจมีคำตอบสำหรับเรื่องนี้ด้วยการใช้ AI เข้าช่วย
ทีมนักวิจัยจาก École Polytechnique Fédérale de Lausanne คิดค้นระบบที่ค่อนข้างเรียบง่ายและราคาถูกโดยใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาและระบบเรียนรู้เพื่อคาดการณ์การเกิดฟ้าผ่าได้ล่วงหน้า 10-30 นาที ในรัศมี 30 กิโลเมตร
ผู้เขียนงานวิจัยเขียนในงานวิจัยเผยแพร่ทางวารสาร Climate and Atmospheric Science เมื่อต้นเดือนนี้ว่า “ทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคระบบเรียนรู้ในการคำนวณการเกิดฟ้าผ่าในระยะใกล้และไกลโดยศึกษาการสังเกตพารามิเตอร์ทางอุตุนิยมวิทยาในสถานที่แห่งเดียว”
การคำนวณ (Hindcasting) ซึ่งตรงข้ามกับการพยากรณ์ (Forecasting) เป็นวิธีที่ทดสอบโมเดลทางคณิตศาตร์ ข้อมูล input ที่รู้หรือประมาณเอาจากเหตุในอดีตถูกนำมาใช้ในโมเดลเพื่อศึกษาว่า output จะออกมาตรงกับผลลัพธ์ที่ทราบผลอยู่แล้วได้ดีระดับไหน ในกรณีนี้นักวิจัยสามารถใช้ข้อมูลการเกิดฟ้าผ่าในอดีตมาสร้างอัลกอริธึมที่สามารถคาดกาณ์การเกิดฟ้าผ่าครั้งใหม่ได้
ทีมวิจัยฝึกอัลกอริธึมระบบเรียนรู้ให้รู้จักกับสภาพอากาศที่มักนำไปสู่ฟ้าผ่า โดยใช้ตัวแปรทั้งสี่ ได้แก่ ความกดอากาศที่สถานี อุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ และความเร็วลม ชุดข้อมูลฝึกนี้มาจากสถานีอากาศ 12 แห่งในสวิตเซอร์แลนด์ทั้งพื้นที่ในเมืองและพื้นที่ภูเขาระหว่างปี 2549 ถึงปี 2560
หลังจากอัลกอริธึมผ่านขั้นตอนการเรียนรู้สำเร็จแล้ว ก็คาดการณ์การเกิดฟ้าผ่าครั้งใหม่ได้แม่นยำถึง 80% นับเป็นครั้งแรกที่ใช้โมเดลแบบง่ายที่ฝึกจากข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยามาใช้คาดการณ์เหตุฟ้าผ่า และเนื่องจากว่าเป็นการอาศัยชุดข้อมูลที่มีอยู่แล้ว จึงมีราคาไม่แพงและทำซ้ำได้ง่าย
นักวิจัยหวังว่าจะใช้โมเดลใหม่นี้เป็นเครื่องมือในโปรเจค European Laser Lightning Rod ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสร้างการป้องกันฟ้าผ่ารูปแบบใหม่