AI รับช่วงประพันธ์ Symphony No. 10 ของเบโธเฟนต่อให้จบ ฉลอง 250 ปีชาตกาล

0

Ludwig van Beethoven หรือเบโธเฟน คีตกวีและนักเปียโนคนสำคัญแห่งยุคคลาสสิกนั้นได้ประพันธ์ Symphony ที่โด่งดังไว้ 9 ชิ้น และได้เริ่มต้นประพันธ์ Symphony หมายเลข 10 ก่อนที่เขาจะจากไปอย่างน่าเสียดายในปี 1827 ทิ้งไว้เพียงฉบับร่างและบันทึกถึงบทประพันธ์เท่านั้น ในโอกาครบรอบ 250 ปีชาตกาล ทีมนักดนตรีวิทยาจึงจับมือกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์วางแผนใช้ AI รับช่วงประพันธ์บทเพลงนี้ต่อให้สำเร็จ

ทีมนักดนตรีวิทยาและโปรแกรมเมอร์ได้ร่วมมือกันพัฒนาและเทรนระบบ AI ขึ้นจากชิ้นส่วนสั้นๆของ Symphony No. 10 ที่เบโธเฟนได้แต่งไว้ก่อนจากไป รวมไปถึงท่อนเพลงจากเพลงอื่นของเขา เช่น Eroica (Symphony No. 3) โดยเมื่อเรียนรู้จากท่อนเพลงเหล่านี้ พวกเขาหวังว่า AI จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีลายเซ็นของเบโธเฟนออกมาได้

อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ตระหนักดีว่าความเป็นอัจฉริยะของเบโธเฟนนั้นยากที่จะลอกเลียนแบบหรือสร้างขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะความสามารถในช่วงท้ายของชีวิตของเขา Christine Siegert ผู้อำนวยการ Beethoven Archive และหนึ่งในผู้จัดการโปรเจกต์นี้กล่าวว่าเป้าหมายของโปรเจกต์นั้นควรจะอยู่ที่การนำชิ้นส่วนของบทประพันธ์ที่เบโธเฟนแต่งค้างไว้มาร้อยเรียงอยู่ในดนตรที่เป็นท่วงทำนองได้ ซึ่งเพียงเท่านี้ก็นับว่าเป็นโจทย์ที่ยาก และหากทำได้ก็จะนับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่แล้ว

ขณะนี้ ระบบ AI ดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทีมงานกล่าวว่าบ่อยครั้งที่ระบบทำให้พวกเขาแปลกใจและมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

เมื่อ AI ประพันธ์ Symphony No. 10 จนจบ นักประพันธ์ซึ่งเป็นมนุษย์ก็จะนำบทเพลงนี้ไปแปลง (Orchestrate) เพื่อให้สามารถบรรเลงได้ และเราจะได้รับฟังผลงาน Symphony No. 10 ของ AI ดังกล่าวในวันที่ 28 เมษายน 2020 ณ เมืองบ็อน ประเทศเยอรมนี บ้านเกิดของเบโธเฟน

ก่อนหน้านี้ได้มีการใช้งาน AI ในทำนองเดียวกันนี้ในการประพันธ์ Symphony No. 8 ที่ Franz Schubert แต่งไว้ไม่จบ รวมไปถึงการใช้ AI ในการลอกเลียนฝีมือการเล่นเปียโนของ Glenn Gould นักเปียโนชื่อดังในศตวรรษที่ 20 ดังนั้น AI จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ใหม่ซะทีเดียวสำหรับวงการเพลงคลาสสิก และยังมีแนวโน้มที่จะมีกรณีใช้งานมากขึ้น