รู้จักที่มาของ #BlackLivesMatter แฮชแท็กการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อหยุด Racism และความอยุติธรรมที่ฉายซ้ำมาตลอด

0

วันที่ 25 พฤษภาคม 2020 George Floyd ชายผิวดำได้รับการเข้าควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยต้องสงสัยว่าใช้ธนบัตร $20 ปลอม วิดีโอคลิปจากผู้เห็นเหตุการณ์เผยภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจ Derek Chauvin กดคอของเขาลงกับพื้นด้วยหัวเข่าเป็นเวลาเกือบ 9 นาทีโดย Floyd ร้องขอให้ปล่อยและกล่าวว่าเขาหายใจไม่ออก George Floyd หมดสติในช่วง 3 นาทีสุดท้ายของคลิปและเสียชีวิตลงในเวลาต่อมาโดยไม่มีความพยายามช่วยเหลือใดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคมเป็นต้นมา การประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ George Floyd และหยุดอคติต่อคนดำก็เริ่มต้นขึ้นในเมืองต่างๆทั่วโลก และส่งแฮชแท็ก #BlackLivesMatter ขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์ และเป็นที่แพร่หลายในแพลตฟอร์มโซเชียลอื่นๆอีกครั้ง

ที่มาของ #BlackLivesMatter

#BlackLivesMatter เป็นแฮชแท็กที่เริ่มต้นขึ้นในทวิตเตอร์ในเดือนกรกฎาคมปี 2013 หลังศาลรัฐฟลอริดาตัดสินให้ George Zimmerman ไม่มีความผิดในข้อหาฆาตกรรมโดยเจตนา แต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน (Second-degree murder) ในการใช้อาวุธปืนสังหาร Trayvon Martin เด็กชายผิวดำอายุ 17 ปีที่ไม่มีอาวุธในครอบครองเพื่อ”ป้องกันตัวเอง”

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว #BlackLivesMatter กลายเป็นแฮชแท็กที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์หยิบขึ้นมาใช้อย่างต่อเนื่องเมื่อมีเหตุการณ์ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนดำ โดยเฉพาะในประเด็นความรุนแรงของตำรวจ (Police Brutality) ซึ่งปรากฏขึ้นบ่อยครั้งและมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นคนดำอย่างไม่เป็นสัดส่วนกับจำนวนประชากรตามสถิติ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของ Eric Garner ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวด้วยข้อหาค้าบุหรี่โดยไม่มีอากรภาษี การเสียชีวิตของ Tamir Rice เด็กชายวัย 12 ปีที่มีปืนของเล่นในครอบครองและถูกยิงแทบจะทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบ เหตุกราดยิงที่โบสถ์ Charleston ซึ่งเป็นโบสถ์คนผิวสี และ Sandra Bland ที่ถูกพบเป็นศพในลักษณะแขวนคอในขณะถูกคุมขัง

ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ในปี 2016 ทวิตเตอร์ได้เผยรายชื่อของแฮชแท็กเกี่ยวกับสังคมที่ได้รับการใช้งานมากที่สุดบนแพลตฟอร์ม #BlackLivesMatter มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2013 จนถึงเดือนเมษายนปี 2018 แฮชแท็กดังกล่าวก็ได้รับการใช้งานไปเกือบ 30 ล้านครั้งด้วยกัน

BlackLivesMatter ในปี 2020 ภาพซ้ำของความอยุติธรรม

แม้แฮชแท็ก #BlackLivesMatter จะถือกำเนิดขึ้นมาเกือบ 7 ปี และมีการเติบโตไปเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้าน Systematic Racism ระดับโลกและมีการขยายผลไปยังภาคการเมือง รวมถึงเป็นหัวข้อการสนทนาบนเวทีใหญ่อย่างการโต้วาทีในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016 ทว่าจุดมุ่งหมายของการเรียกร้องก็ยังไม่ได้รับการเติมเต็มและแก้ไขอย่างจริงจัง ทำให้เราได้เห็นการกลับมาของ #BlackLivesMatter เป็นระยะๆอย่างน่าเศร้า

ผลการชันสูตรศพของ George Floyd ทั้งจากรัฐและสถาบันชันสูตรอิสระนั้นมีข้อขัดแย้งที่เห็นไม่ตรงกันอยู่บ้าง ทว่าสิ่งที่ทั้งสองสรุปเหมือนกันคือความตายของ George Floyd นั้นเป็นผลมาจากการฆาตกรรม โดยในขณะนี้ Derek Chauvin เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใช้เข่ากด Floyd ไว้กับพื้นถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยไม่ได้เจตนาและไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน (Third-degree Murder) และ Chauvin เจ้าหน้าที่อีก 2 รายที่ช่วยจับ Floyd ไว้กับพื้นและอีก 1 รายที่อยู่ในที่เกิดเหตุถถูกไล่ออกจากกรมตำรวจของ Minneapolis ทั้งหมด

ทว่าผู้คนจำนวนมากก็ยังกังขาว่าการรับผิดชอบเท่านั้นเพียงพอหรือไม่กับ 1 ชีวิตที่เสียไป และในระดับโครงสร้างองค์กรตำรวจ จะมีการปฏิรูปอย่างไรเพื่อให้เหตุการณ์ไม่ซ้ำรอยเดิม เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสาเหตุการตายของคนดำที่ไม่มีความผิดทั่วสหรัฐซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหตุการณ์ความตายของ George Floyd และภาพวิดีโอจากผู้อยู่ในเหตุการณ์สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก และเน้นย้ำว่าความอยุติธรรมและความรุนแรงต่อคนดำยังมีอยู่ในสังคมโดยไม่มีการรับผิดชอบเยียวยาอย่างเป็นรูปเป็นร่าง

หลังจากภาพและข้อมูลของเหตุการณ์ได้ถูกเผยแพร่ออกไป แฮชแท็ก #BlackLivesMatter ก็กลับมาอีกครั้งอย่างทรงพลังมากกว่าเดิมในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนกระทั่งตอนนี้ โดยในแฮชแท็กมีการแบ่งปันข้อมูลของคดี หนทางการช่วยเหลือการเคลื่อนไหวเพื่อกำจัด Racism ช่องทางการบริจาค ข้อมูลของคดีของคนผิวดำอื่นๆที่ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม ประสบการณ์ รวมไปถึงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่คนดำต่างก็ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน

อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา แถลงการณ์ถึงกรณีการเสียชีวิตของ George Floyd

องค์กรและแบรนด์หลายรายได้ออกมาประนามการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสนับสนุนบทสนทนา และการประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ George Floyd และคนผิวดำที่ตกเป็นเหยื่อของอคติที่ซ่อนตัวอยู่ในโครงสร้างของสังคมด้วย

PlayStation เลื่อนการเปิดตัว PlayStation 5 เพื่อให้ผู้คนได้ฟัง”เสียงที่สำคัญกว่า”

นอกจากนี้ ด้านนอกจอยังมีการขยายผลไปเป็นการเดินขบวนประท้วงทั่วสหรัฐอเมริกาและในอีกหลายเมืองทั่วโลก เช่น ลอนดอน ปารีส อัมสเตอร์ดัม โอ๊คแลนด์ (นิวซีแลนด์) และโตเกียว จนอาจเรียกได้ว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Solidarity) ครั้งใหญ่ของผู้คนทั่วโลกที่ไม่ต้องการให้ความอยุติธรรมเช่นนี้เกิดขึ้นกับใครอีก

ภาพการประท้วงที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

Racism คือปัญหาของเราทุกคน

คำว่า Racism ในภาษาไทยนั้นมักถูกแปลว่าการเหยียดสีผิว ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรนักแต่ไม่ครอบคลุมใจความทั้งหมด เพราะนอกจากเหยียดสีผิวแล้ว Racism ยังรวมถึงการเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนดำด้วย การเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่ฝังรากลึกอยู่ในทัศนคติและระบบของรัฐ ผู้บังคับใช้กฎหมาย และบริษัทเอกชนยังคงเป็นปัญหาที่คนดำต้องเผชิญหน้ามาตลอด ถึงแม้จะมีการยกเลิกกฎหมาย Jim Crow Laws ซึ่งแบ่งแยกไม่ให้คนดำใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น ขนส่งสาธารณะ ห้องน้ำ ร้านอาหาร และโรงเรียน ร่วมกับคนขาวไปตั้งแต่ช่วงปี 1965 และมีการเขียนกฎหมายขึ้นมาป้องกันอคติในด้านต่างๆ แต่ความอยุติธรรม อคติจากสังคม และความรุนแรงโดยตำรวจก็ยังเป็นสิ่งที่คนดำต้องเผชิญอยู่เสมอ

ในประเทศไทยเอง ปัญหานี้นั้นอาจไม่เด่นชัดและรุนแรงเท่าในสหรัฐอเมริกา แต่เราก็ไม่อาจพูดได้ว่าประเทศของเรานั้นปราศจากการเหยียดผิวและเชื้อชาติ เมื่อในไทยก็มีกรณีของครูต่างประเทศผิวดำที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครอง อคติในการจ้างงานคนผิวดำ และการเพิกเฉยต่อประเด็นทางสังคมของ Racism ที่แสดงออกมาทางหน้าสื่อหลายครั้ง เช่น กรณีโฆษณาของโดนัทยี่ห้อหนึ่ง ครีมทาผิว และการปรับสีผิวนางแบบผิวดำให้ขาวขึ้น

โครงสร้างทางสังคมที่ทำร้ายคนดำตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมานั้นกำลังสั่นคลอน และอินเทอร์เน็ตก็ช่วยให้เรื่องราวเหล่านี้เด่นชัดยิ่งขึ้นกว่ายุคไหนๆ อินเทอร์เน็ตช่วยให้เราเข้าถึงประวัติศาสตร์ความเจ็บปวด เรื่องราว ข้อมูล สถิติ ภาพ วิดีโอ และการรายงานข่าวจากที่เกิดเหตุอย่างทันทีทันใด อินเทอร์เน็ตช่วยให้เราเรียนรู้ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ได้ง่ายขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

สีผิว เชื้อชาติ และรากเหง้าที่มา เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถเลือกหรือปรับเปลี่ยนได้ การเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรง หรือแม้กระทั่งการเพิกเฉยต่อความอยุติธรรม ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะพวกเขามีรูปลักษณ์ ที่มา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกับตนนั้นไม่ใช่ความเชื่อทางการเมือง

แต่เป็นความอยุติธรรมที่สังคมสมัยใหม่และโลกของเราไม่มีพื้นที่ให้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม


ศึกษาเรื่องราวเพิ่มเติมและร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหว Black Lives Matter ได้ที่ https://blacklivesmatters.carrd.co