7 กลยุทธ์เพื่อการตัดสินใจร่วมกันที่ดีขึ้น

0

การตัดสินใจร่วมกันเป็นกลุ่มนั้นเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่องค์กรต่างก็ทำกันอย่างแพร่หลาย ทว่าในบางครั้งรวบรวมผู้คนที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และประสบการณ์ที่แตกต่าง ก็กลายมาเป็นอุปสรรคในการตัดสินใจไปเสียอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้ Harvard Business Review จึงแนะนำ 7 กลยุทธ์​ ที่จะทำให้การตัดสินใจร่วมกันเป็นไปได้ด้วยดีขึ้น

1. ถ้าเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ ควรทำในกลุ่มเล็ก

งานวิจัยพบว่ากลุ่มที่ใหญ่เกินไปอาจก่อให้เกิด Confirmation Bias ในการตัดสินใจได้มากกว่า เพราะคนในกลุ่มจะมีแนวโน้มที่จะพิจารณาและประเมินข้อมูลในแบบเดิมๆที่มีอยู่แล้วในกลุ่ม ดังนั้นในการตัดสินใจสำคัญกลุ่มควรมีขนาด 2-5 คน ซึ่งเป็นขนาดที่ผู้คนปฏิสัมพันธ์กันได้ดี

2. เลือกผู้คนที่แตกต่างเข้าร่วมกลุ่ม

หากผู้คนในกลุ่มมีแนวคิดและความเชื่อที่เหมือนกัน แนวโน้มการตัดสินใจก็จะมีอคติมากกว่า ดังนั้นการเลือกผู้คนที่แตกต่างกันมาร่วมกลุ่มจะช่วยสร้างสมดุลของความคิดได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามก็ต้องดูบริบทด้วย หากเป็นการประชุมเพื่อตัดสินใจเนื้องานที่มีการทำอยู่เป็นประจำอย่างเป็นระบบระเบียบ เช่น การรักษาพยาบาล หรือขั้นตอนความปลอดภัยในองค์กร การเลือกคนที่คล้ายๆกันเข้าร่วมประชุมก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

3. ตั้งฝ่ายค้าน

วิธีป้องกันการไหลตามน้ำที่ดีคือการแต่งตั้ง “ฝ่ายค้าน” ขึ้นมาในการประชุมที่จะทำหน้าที่ค้านมติของที่ประชุม การทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพของการตัดสินใจและผลลัพธ์ให้กับการตัดสินใจได้ และหากที่ประชุมมีจำนวนคนเข้าร่วมมาก ก็ควรตั้งฝ่ายค้านในสัดส่วนที่มากขึ้นตาม เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านเพียงคนเดียวถูกละเลยจากเสียงส่วนใหญ่

4. เก็บความคิดเห็นแยกกัน

การเก็บความคิดเห็นหรือไอเดียของผู้เข้าร่วมการประชุมแต่ละรายแยกกัน และนำมาหารือในที่ประชุมแบบไม่ระบุตัวตนเจ้าของความคิดเห็นจะช่วยลดอคติและความเกรงใจต่อตัวบุคคล และลดการไหลตามน้ำในที่ประชุมได้

5. สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้พูด

หากต้องการความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมทุกรายอย่างแท้จริง การประชุมนั้นควรมีบรรยากาศที่เปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมควรพยายามพิจารณาทบทวนสิ่งที่หารือ และมีการพูดคุย แสดงความคิดเห็น ทักท้วง และเล่าถึงประสบการณ์อย่างสุภาพตลอดเวลา เมื่อการสนทนาเป็นไปในรูปแบบเปิดกว้างเช่นนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนก็จะรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็น

6. อย่ายึดติดกับผู้เชี่ยวชาญมากเกินไป

ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญนั้นมีคุณค่าและช่วยในการตัดสินใจได้มาก แต่หากยึดติดและเชื่อในความคิดเห็นนั้นแบบไม่มีข้อแม้ การตัดสินใจของกลุ่มประชุมก็เสี่ยงที่จะมีอคติเกิดขึ้น การป้องกันปัญหานี้ที่ดีคือการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และออกความคิดเห็นตามหัวข้อที่กำหนด จากนั้นในกลุ่มผู้ตัดสินใจจึงพูดคุยหารือกันเพื่อตัดสินใจโดยเป็นอิสระจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

7. รับผิดชอบร่วมกันภายในกลุ่มตัดสินใจ

หน้าที่ในการสร้าง จัดการ เลือกผู้เข้าร่วมกลุ่มนั้นไม่ควรผูกติดกับผู้เข้าร่วมคนใดคนหนึ่งแต่ควรกระจายหน้าที่กันออกไปเพื่อป้องกันอคติส่วนตัว และเมื่อกลุ่มตัดสินใจลงไปแล้ว ทุกคนในกลุ่มการตัดสินใจควรแชร์ความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นร่วมกัน โดยอาจให้ผู้เข้าร่วมทุกคนเซ็นเอกสารความรับผิดชอบโดยเท่าเทียม ซึ่งจะทำให้อำนาจการตัดสินใจของผู้เข้าร่วมแต่ละรายอยู่ในระนาบเดียวกัน และทำให้การหารือเป็นไปอย่างเปิดกว้างมากขึ้น