ทีมวิศวกรจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน (The Swiss Federal Institute of Technology Lausanne หรือ EPFL) ได้พัฒนาชิปสวมใส่ที่สามารถวัดความเข้มข้นของคอร์ติซอลในเหงื่อได้ ซึ่งเป็นตัวช่วยบ่งชี้ระดับความเครียดของผู้ใช้เพราะคอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมาตอบสนองกับความเครียดนั่นเอง

คอร์ติซอลช่วยในการควบคุมระบบเผาผลาญ ระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อสถานการณ์ตึงเครียดโดยการนำพลังงานไปสู่สมอง กล้ามเนื้อและหัวใจ เพื่อเตรียมรับมือกับการตอบสนองแบบสู้หรือถอย ฮอร์โมนจะหลั่งออกมาตลอดทั้งวันตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงที่เครียดเท่านั้น สำหรับคนที่ประสบกับความเครียดหรือมีโรค จังหวะการเต้นของหัวใจจะผิดปกติ ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนออกมาได้น้อยหรือมากเกินไป ซึ่งจะนำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและความอ้วนจากการกินที่เกิดจากความเครียด โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะซึมเศร้า และภาวะหมดไฟ
ชิปที่พัฒนาโดย Nanoelectronic Devices Laboratory (Nanolab) แห่ง EPFL และ Xsensio มีตัวทรานซิสเตอร์และอิเล็คโทรตที่ผลิตจากแกรฟีน มีชิ้นส่วน DNA หรือ RNA ที่จับกับคอร์ติซอลเพื่อให้อุปกรณ์วัดความเข้มข้นในเหงื่อ และได้ข้อมูลเชิงปริมาณและเป็นข้อมูลที่วัดได้จริงโดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้

ทีมวิศวกรได้ทดสอบนวัตกรรมนี้ในห้องแล็บแล้ว และขั้นตอนต่อไปคือการทดสอบในโรงพยาบาล ซึ่งตอนนี้ทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกับ Lausanne University Hospital ในการทดลองกับผู้ป่วยจริง ซึ่งบางรายเป็นกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome ร่างกายผลิตคอร์ติซอลมากเกินไป) บางรายมีโรคแอดดิสัน (Addison’s disease ร่างกายผลิตคอร์ติซอลไม่เพียงพอ) และโรคอ้วนที่เกิดจากความเครียด ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตยังไม่ร่วมในการทดลองครั้งนี้ แต่ทีมวิจัยเชื่อว่าอุปกรณ์นี้สามารถช่วยแพทย์ให้เข้าใจอาการของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น