ประเทศไทยมีการพัฒนาความเร็วอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์คงที่อย่างเห็นได้ชัดมาตลอดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ดังที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ตามบ้าน (fiber-to-the-home หรือ FTTH) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามพื้นที่ในเขตเมืองใหญ่ ยิ่งเจอช่วง COVID-19 ด้วยแล้ว การต้องทำงานที่บ้านหรือการเรียนออนไลน์ก็ยิ่งทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
Ankur Tripathi นักวิเคราะห์ข่าวกรองธุรกิจ ได้ใช้ข้อมูลจาก Speedtest Intelligence®เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของเหตุการณ์นี้ในประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เพื่อศึกษาว่าการรับส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้นทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตช้าลงและส่งผลเชิงลบต่อประสบการณ์ของผู้ใช้ปลายทางหรือไม่
ประเทศไทยก้าวทะยานในการจัดอันดับระดับนานาชาติ
จากข้อมูลของ Speedtest Global Index ในช่วงปี 2563 แสดงให้เห็นว่า ไทยจัดการกับปัญหาปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากค่าเฉลี่ยความเร็วบรอดแบนด์คงที่ของไทยที่กระโดดขึ้นมาจากอันดับ 9 เมื่อเดือนมกราคมปี 2563 ไปสู่อันดับที่ 3 ในเดือนธันวาคม 2563 ตามหลังสิงคโปร์และฮ่องกงที่ครองอันดับ 1 และ 2 มาตลอดทั้งปี
ประเทศไทยมีความเร็วบรอดแบนด์คงที่เร็วเป็นอันดับ 2 ในประเทศอาเซียน
อาเซียนเป็นหนึ่งในตลาดอินเทอร์เน็ตที่เติบโตเร็วที่สุดของโลก โดยมีการเติบโตขึ้น 40.7% ปีต่อปี จากผู้ใช้งาน 22.97 ล้านรายในปี 2562 กลายเป็น 32.31 ล้านรายในปี 2563 สิ่งที่น่าสนใจคือ ไทยมีค่าดาวน์โหลดเฉลี่ยบนบรอดแบนด์คงที่ในช่วงปี 2563 อยู่ที่ 166.81 Mbps เป็นประเทศที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตสูงสุดเป็นอันดับสองในกลุ่มอาเซียนรองจากสิงคโปร์ที่ความเร็ว 214.39 Mbps ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีความเร็วที่ทิ้งห่างอยู่พอสมควร
การใช้งาน Wi-Fi เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดวงกว้างของ COVID-19 นั้น เปอร์เซ็นต์เวลาที่คนใช้งาน Wi-Fi เป็นอีกข้อบ่งชี้ถึงเวลาที่คนอยู่กับบ้าน ในประเทศไทย ผู้ใช้มือถือ Android ใช้เวลาผ่าน Wi-Fi ในเดือนธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 ถึง 7.4% ผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนก็มีแนวโน้มตัวเลขที่คล้ายกันเช่นเดียวกันตั้งแต่เริ่มมาตรการป้องกัน COVID-19 เมื่อเดือนมีนาคม 2563
3BB บรอดแบนด์เร็วที่สุดผ่าน Wi-Fi บนอุปกรณ์ Android รุ่นใหม่
บรอดแบนด์คงที่ในประเทศไทยมีความน่าสนใจตรงที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้รับโมเด็มและเราท์เตอร์จากผู้ให้บริการ ทำให้การเปรียบเทียบความเร็ว Wi-Fi ระหว่างผู้ให้บริการนั้นง่ายขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่คลื่นความถี่ 5 GHz ในช่วงปี 2563 นั้น พบว่า 3BB เป็นผู้ให้บริการ Wi-Fi ที่เร็วที่สุด ด้วยค่าเฉลี่ยความเร็วในการดาวน์โหลด 272.93 Mbps ตามมาด้วย AIS (248.39 Mbps)และ True Online (242.05 Mbps)
Wi-Fi เร็วขึ้นทั่วทุกจังหวัดในไทย
จากการเปรียบเทียบข้อมูล Speedtest Intelligence จากไตรมาสแรกของปี 2563 กับไตรมาสที่ 4 ในปีเดียวกัน พบว่าความเร็ว Wi-Fi เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ โดยจังหวัดแพร่เป็นจังหวัดที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุดถึง 462.14 Mbps ตามด้วยสิงห์บุรี (367.14 Mbps) และสระแก้ว (304.33 Mbps) ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีค่าความเร็วอยู่ในช่วง 180 – 300 Mbps ในขณะที่สตูล (180.77 Mbps) และอุทัยธานี (180.37 Mbps) มีค่าความเร็วเฉลี่ยต่ำสุดในประเทศ
กฎเปลี่ยนน่าจะช่วยเพิ่มการลงทุนให้กับบรอดแบนด์คงที่ของประเทศ
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลไทยได้ปรับเปลี่ยนแก้ไขกรอบการกำกับดูแลที่น่าจะดึงดูดการลงทุนในบรอดแบนด์คงที่ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการปรับเปลี่ยนจาก DSL และเคเบิลเป็นไฟเบอร์ นอกจากนี้ ผู้ให้บริการในไทยยังคงมุ่งเน้นพัฒนาเครือข่าย FTTH ในเขตเมือง โดยให้บริการความเร็ว Gigabit เป็นแพคเกจหลักในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่
กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (The National Broadcasting and Telecommunications Commision หรือ NBTC) ได้ประกาศให้ข้อมูลบรอดแบนด์เคลื่อนที่ฟรี 10 GB แก่ผู้ใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้านตามมาตรการที่รัฐออกกฎในช่วง COVID-19 โดยได้ออกแนวทางให้ผู้ให้บริการบรอดแบนด์อัปเกรดความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านที่ขั้นต่ำ 100 Mbps สำหรับลูกค้าโดยไม่มีค่าบริการเพิ่มแต่อย่างใด