[Guest Post] มิว สเปซ ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ด้านการบินและอวกาศเปิดตัวโรงงานผลิตดาวเทียมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

0

โรงงานแห่งที่ 2 ของมิว สเปซ  ซึ่งเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ ในปัจจุบัน จะทำการพัฒนา ทดสอบ และผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม เพื่อรองรับการแข่งขันด้านอวกาศที่สูงขึ้น

บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนการบินและอวกาศ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ประกาศวันนี้ว่าได้เปิดตัวโรงงานใหม่ ภายใต้ชื่อ Factory 1 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ซึ่งโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานแห่งที่สองของมิว สเปซ และถือเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งมา ทั้งยังเป็นโรงงานที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ด้านการบินและอวกาศแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2563 มิว สเปซได้เปิดตัวโรงงานผลิตขนาดเล็กแห่งแรก โดยใช้ชื่อว่า Factory 0 เพื่อรองรับการพัฒนาตัวต้นแบบของเทคโนโลยี ส่วนโรงงานแห่งใหม่ Factory 1 นั้นถือเป็นก้าวล่าสุดของมิว สเปซในการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านดังกล่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อตอบสนองต่อการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้สำหรับการแข่งขันทางอวกาศในระดับนานาชาติ

มิว สเปซก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2560 โดยนายวรายุทธ เย็นบำรุง และได้ทำการทดลองโดยส่งสัมภาระไปยังสภาวะเสมือนไร้แรงโน้มถ่วง (microgravity) ในระดับวงโคจรบนอวกาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการยิงจรวดนิว เชพเพิร์ดของบริษัทบลู ออริจิน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะทำงานร่วมกับองค์กรการบินและอวกาศเชิงพาณิชย์อีกหลากหลายแห่ง รวมถึงทำการปล่อยดาวเทียมเองในอนาคต

โรงงานแห่งใหม่ Factory 1 ของมิว สเปซมีพื้นที่มากกว่า 2,200 ตารางเมตร และเป็นการยกระดับจากโรงงานแห่งแรกคือ Factory 0 โดยโรงงานแห่งที่สองนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อพัฒนา ทดสอบ และผลิต ชิ้นส่วนดาวเทียมและระบบพลังงานสำหรับการใช้งานบนอวกาศและโทรคมนาคม (รวมถึงดาวเทียมวงโคจรต่ำ LEO) ตลอดจนการใช้งานภายในโรงงานและบริษัทของมิว สเปซเอง

ทั้งนี้ มิว สเปซคาดว่าการเปิดตัว Factory 1 จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 300 อัตราในกรุงเทพฯ ภายในปีพ.ศ. 2565 โดยมิว สเปซได้เริ่มการจ้างงานกว่า 50 ตำแหน่งเมื่อต้นปีนี้ เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนการเติบโตของบริษัทฯ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมการปล่อยยานพาหนะทางอวกาศเพิ่มขึ้นถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ทั่วโลก โดยมูลค่าของอุตสาหกรรมดาวเทียมทั้งหมดในโลกได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 508 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีพ.ศ. 2567 ตามรายงานข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมดาวเทียมทั่วโลกและรายงานการพยากรณ์ปีพ.ศ. 2563 หรือ Global Satellite Industry Insights & Forecast Report 2020  การขยายบริษัทของมิว สเปซสู่ตลาดโลกจึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเร่งเครื่องในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดาวเทียมนานาชาติ

นาย วรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ กล่าวถึงการเปิดตัวโรงงานใหม่ Factory 1 ว่า “ทีมของเราได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อโรงงาน Factory 1 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสานต่อภารกิจและความฝันในด้านอวกาศของพวกเราทุกคนที่มิว สเปซ อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญของวงการอวกาศของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

โรงงานแห่งใหม่ Factory 1 ประกอบไปด้วยพื้นที่ปฏิบัติการ 5 โซน ได้แก่ ดาวเทียม ระบบพลังงาน หุ่นยนต์ พื้นที่สำหรับเวิร์คชอป และสำนักงาน ตามรายละเอียดดังนี้

  • ดาวเทียม: มิว สเปซมีแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมสำหรับการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมแบบเครื่องกลและแบบไฟฟ้าใน Factory 1  บริเวณนี้มีห้องปลอดเชื้อขนาดใหญ่ (Clean room) และสามารถผลิตดาวเทียมได้มากถึง 10 ดวงในเวลากัน นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบต่างๆ เช่น โครงสร้าง กลไก เซ็นเซอร์ ระบบสื่อสาร แผงโซลาร์เซลล์ และอื่นๆ
  • ระบบพลังงาน: มิว สเปซสามารถพัฒนาระบบพลังงานในเชิงลึก ปรับแต่งส่วนประกอบแต่ละอย่างให้สมบูรณ์แบบก่อนประกอบเป็นก้อนแบตเตอรี่ที่โรงงานใหม่แห่งนี้  โดยพื้นที่ในบริเวณนี้จะทำการวิจัยและผลิตเกี่ยวกับระบบพลังงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ซึ่งเป็นสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของโรงงาน
  • หุ่นยนต์: ภายใน Factory 1 ทีมวิศวกรของมิว สเปซสามารถแสดงการทำงานของหุ่นยนต์ โดยหุ่นยนต์จะจัดส่งชิ้นส่วนและเครื่องมือจากชั้นเก็บของไปยังพื้นที่ทำงาน เพื่อช่วยวิศวกรในการสร้างผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้หุ่นยนต์ทั้งหมดในโรงงานนี้จะถูกควบคุมโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ส่วนกลาง ซึ่งทำหน้าที่เป็นสมองของการดำเนินงานของ มิว สเปซ ทีมวิศวกรยังสามารถทำการวิจัยและพัฒนาขั้นสูงเกี่ยวกับหุ่นยนต์รุ่นต่างๆ ในอนาคต ซึ่งจะสามารถนำไปใช้งานได้จริง ไม่เพียงแต่บนโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบนดวงจันทร์ ดาวอังคาร และดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ
  • พื้นที่สำหรับเวิร์คชอป: ในบริเวณนี้จะประกอบไปด้วยเครื่องจักรหนักและห้องเก็บของ ซึ่งมีไว้สำหรับการเชื่อมหรือกลึงเหล็ก
  • สำนักงาน: ทีมงานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของ มิว สเปซ ส่วนใหญ่จะอยู่ในแผนกวิศวกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการบริหารจัดการด้านอื่นๆ โดยทีมงานของ มิว สเปซ ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมด้วยพลังและความฝันที่อยู่นอกเหนือโลกใบนี้

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของโรงงานมิว สเปซ Factory 0 และความคืบหน้าและแผนการสำหรับ Factory 1 ได้ที่วิดีโอนี้