เทคโนโลยีทางด้าน Identity หรือการระบุตัวตนนั้นกำลังจะกลายเป็นรากฐานสำคัญสำหรับทุกๆ ธุรกิจองค์กร เพื่อปรับเปลี่ยนให้กระบวนการพิสูจน์ยืนยันและระบุตัวตนนั้นมีความน่าเชื่อถือ, มีความมั่นคงปลอดภัย, มีความรวดเร็ว และสามารถทำได้แบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง
ในบทความนี้เราจะสรุปถึงเทคโนโลยีและระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน Digital ID จากความร่วมมือระหว่าง NDID, AIS และ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร พร้อมนำเสนอถึงตัวอย่างการใช้งานจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นเป็นแนวทางและนำไปประยุกต์ปรับใช้งานกับธุรกิจของตนเองได้อย่างเหมาะสม
ID กับบทบาทที่เกี่ยวข้องกับทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชน และอนาคตต้องก้าวไปสู่ Digital ID
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว ID หรือข้อมูลสำหรับใช้ในการพิสูจน์ยืนยันและระบุตัวตนนั้นคือสิ่งที่จำเป็นต่อการทำธุรกรรมไม่ว่าจะสำหรับภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม ID ที่คนไทยเราน่าจะคุ้นเคยและใช้งานกันทุกคนนั้นก็คือบัตรประชาชน ซึ่งตัวอย่างการใช้งานบัตรประชาชนในกระบวนการขอเลขหมายเบอร์โทรศัพท์ของ AIS เองก็มีดังนี้
- ลงทะเบียนซิมการ์ดในการเปิดใช้งานเบอร์มือถือใหม่ พร้อมจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ของเจ้าของเบอร์ตามกฎของกสทช.
- นำข้อมูลจากชิปบัตรประชาชนไปยืนยันกับสำนักงานทะเบียนราษฎร์ (DOPA) เพื่อพิสูจน์ตัวตน และตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเช่นสถานะการมีชีวิตของเจ้าของบัตรใบนั้นๆ เพื่อป้องกันการนำบัตรประชาชนของผู้เสียชีวิตมาใช้ทำธุรกรรม
- ทำการถ่ายภาพของเจ้าของบัตร และใช้ AI ในการเปรียบเทียบว่าภาพของเจ้าของบัตร กับภาพในบัตรประชาชนนั้นเป็นบุคคลเดียวกันจริงหรือไม่
จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เพียงแค่มีบัตรประชาชนนั้นถือว่ายังไม่เพียงพอ แต่เบื้องหลังนั้นก็ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมด้วยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้สูงยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่นำบัตรประชาชนมาใช้ทำธุรกรรมนั้นเป็นเจ้าของบัตรจริงๆ และป้องกันกรณีหลอกลวง ปลอมแปลง หรือการทำในสิ่งไม่ชอบในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ประเด็นปัญหาหลักของการใช้งานบัตรประชาชนนั้นก็คือว่าถึงแม้จะมีกระบวนการต่างๆ มากมายในการตรวจสอบยืนยันตัวตน แต่กรณีของการหลอกลวงปลอมแปลงเองก็ยังคงเกิดขึ้นมาโดยตลอด และเทคโนโลยี Digital ID ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในส่วนนี้ก็จะทำให้กระบวนการการยืนยันตัวตนมีความมั่นคงปลอดภัยขึ้นเป็นอย่างมาก
Digital ID ได้ทำการต่อยอดจากเทคโนโลยี Smart Card โดยการสร้างตัวตนของบุคคลบนโลก Digital ที่ไม่สามารถถูกปลอมแปลงได้ขึ้นมา โดยมีหน่วยงานอย่าง ETDA คอยกำกับควบคุมมาตรฐานด้านความน่าเชื่อถือและความมั่นคงปลอดภัย ทำให้มีการแบ่งระดับของการพิสูจน์ตัวตนได้หลายระดับ สำหรับการนำไปใช้งานในรูปแบบที่เหมาะสมได้
สำหรับในประเทศไทย กระทรวงการคลังและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้นได้ทำการผลักดันเทคโนโลยี Digital ID มาตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีก่อน เพื่อริเริ่มให้เกิดเทคโนโลยี Digital ID สำหรับมาแก้ปัญหาในภาคธุรกิจเรื่องของการหลอกลวงปลอมแปลงตัวตนโดยเฉพาะ โดยจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อร่างมาตรฐานและดูแลทางด้านเทคนิค
AIS จับมือ NDID วางระบบโครงสร้างพื้นฐานด้าน Digital ID ให้ประชาชนเข้าถึงได้ พร้อมเปิดให้ภาคธุรกิจนำไปใช้งานได้แล้ว
NDID (National Digital ID Co., Ltd.) นั้นก็เป็นผู้ให้บริการ Digital ID ที่ได้นำมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้มาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีบน Blockchain เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงพัฒนาการเชื่อมต่อต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจองค์กรไทยและหน่วยงานภาครัฐสามารถนำเทคโนโลยี Digital ID ไปใช้งานได้ เทคโนโลยี Digital ID ในประเทศไทยจึงถือว่ามีความพร้อมค่อนข้างมากทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เอง ทาง AIS จึงได้ร่วมมือกับ NDID ในฐานะของ Identity Provider (IdP) หรือผู้ให้บริการรับลงทะเบียนและพิสูจน์ตัวตน ทำให้ Digital ID มีการใช้งานในไทยมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยหน้าร้านของ AIS ไม่ว่าจะเป็น AIS Shop, AIS Telewiz, AIS BUDDY, AIS Mini corner และอื่นๆ รวมกันกว่า 19,849 จุดบริการนั้นก็สามารถให้บริการเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น
ในการใช้งานจริง AIS และ NDID ได้ร่วมมือกับธนาคารเกียรตินาคินภัทรที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ในฐานะของ Relying Party (RP) หรือผู้ให้บริการในการทำธุรกรรม ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินเบื้องต้นของธนาคารเกียรตินาคินภัทรนั้นรองรับการใช้งาน Digital ID ได้แล้ว และมีแผนที่จะต่อยอดเพิ่มเติมในอนาคตหลังจากนี้ด้วยเช่นกัน
ธุรกิจที่สนใจใช้งาน Digital ID สามารถติดต่อทีมงาน AIS เพื่อพูดคุยถึงแนวทางและความเป็นไปได้ในการนำ Digital ID ไปประยุกต์ใช้งานในรูปแบบต่างๆ ทั่วประเทศไทยได้ทันที
โอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจาก Digital ID
Digital ID ถือเป็นระบบ Infrastructure พื้นฐานที่จะสร้างโอกาสอันมหาศาลให้กับภาคธุรกิจได้ในฐานะของเทคโนโลยีที่จะช่วยทำให้เกิดการทำ Digital Transformation ได้ในหลากหลายมุม ช่วยให้เกิดการทำธุรกรรมระยะไกลบนโลกออนไลน์ได้ ด้วยข้อมูลตัวตนบนโลกออนไลน์ที่น่าเชื่อถือจาก Digital ID สามารถสร้างประสบการณ์แบบ Digital แบบ End-to-End ได้อย่างสมบูรณ์
ตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพได้ชัดก็เช่นการเปิดบัญชีกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่มีขั้นตอนแบบ Digital ดังนี้
- ลูกค้ารายใหม่สามารถแสดงเจตจำนงค์ในการเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชัน KKP E-Banking ได้ด้วยตนเอง
- ถ้าหากลูกค้ารายนั้นมี Digital ID อยู่แล้ว ก็สามารถทำการเปิดบัญชีได้ทันทีโดยไม่ต้องไปที่สาขาของธนาคารแต่อย่างใด
- ถ้าหากลูกค้ารายนั้นยังไม่มี Digital ID ก็สามารถไปที่จุดให้บริการของ AIS เพื่อแสดงการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน เพื่อให้ได้รับ Digital ID มาใช้ดำเนินการเปิดบัญชีหรือทำสิ่งอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต
สำหรับขั้นตอนการยืนยันตัวตนเพื่อสร้าง Digital ID ที่ AIS นั้นก็ไม่ซับซ้อน โดยมีกระบวนการดังนี้
- ทำการป้อนข้อมูลเบอร์โทรศัพท์เข้าไปยัง Smart Kiosk
- AIS จะทำการส่ง OTP ไปยังเบอร์โทรศัพท์นั้นๆ สำหรับใช้ยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์นั้นๆ
- ระบบจะแสดงเงื่อนไขการใช้บริการ และเปิดให้ผู้ใช้งานให้ความยินยอมในการใช้บริการ
- ทำการเสียบบัตรประชาชนเข้าไปยัง Smart Kiosk เพื่อตรวจสอบข้อมูลจากชิปเซ็ตในบัตรเข้ากับระบบออนไลน์ของสำนักงานทะเบียนราษฎร์
- หากตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่ติดขัดอะไร ระบบจะทำการแสดงว่ามีรายการขอการยืนยันตัวตนจากที่ใดเพื่อทำอะไรบ้าง เพื่อให้เราสามารถเลือกตกลงได้
- Smart Kiosk จะทำการพิมพ์ Slip ออกมาเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันผล
- ที่ระบบของ RP อย่างเช่นธนาคารเกียรตินาคินภัทร เมื่อได้รับการยืนยันตัวตนจากทาง AIS แล้วก็จะอนุมัติให้ทำการเปิดบัญชีได้ และสามารถสร้าง Digital ID จากธนาคารเกียรตินาคินภัทรที่ได้ผ่านกระบวนการการยืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถือมาแล้ว เพื่อนำไปใช้ทำธุรกรรมอื่นๆ ต่อไปได้ในภายหลัง
ทั้งนี้ในอนาคตก็จะมีกรณีการใช้งานของ Digital ID ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงแรกเริ่มนั้นธุรกิจที่เป็น Critical Infrastructure อย่างเช่นโทรคมนาคมและธนาคารนั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ Digital ID ถูกใช้งานจริงเป็นวงกว้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระบวนการต่างๆ ก็จะมีความสะดวกมากขึ้น อย่างเช่นทาง AIS ที่มี Road Map ในอนาคตที่จะนำความสามารถในการจัดการ Digital ID ไปอยู่บนแอปพลิเคชันอย่าง myAIS ด้วย เพื่อช่วยให้ลูกค้าของ AIS ทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย
ส่วนภาครัฐเองนั้น ทางกรมสรรพากรก็ได้เริ่มใช้ NDID เพื่อให้ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนในการยื่นเสียภาษีผ่าน NDID ได้แล้วเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และหลังจากนี้กรณีการใช้งานทางภาครัฐเองก็จะมีเพิ่มเติมมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ NDID เองก็เป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน ดังนั้นระบบของ NDID จึงไม่มีการบันทึกจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้เอาไว้เลย มีเก็บเอาไว้เพียงแค่ข้อมูล Log ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเท่านั้น ทำให้ภาคธุรกิจองค์กรหรือหน่วยงาน
ประชาชนบุคคลทั่วไป คือผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจาก Digital ID
การมาของ Digital ID นี้จะทำให้ทุกๆ คนได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น เช่น
- สามารถทำธุรกรรมได้อย่างมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น
- ลดโอกาสในการถูกปลอมแปลงตัวตนเพื่อไปทำธุรกรรมต่างๆ น้อยลง
- สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างสะดวกและง่ายดายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกรรมที่ต้องมีการยืนยันพิสูจน์ตัวตนอย่างเข้มข้น
- การทำธุรกรรมต่างๆ มีต้นทุนที่ถูกลง เพราะผู้ให้บริการรายต่างๆ สามารถลดขั้นตอนที่ซับซ้อนจากการยืนยันพิสูจน์ตัวตนลงไปได้
ส่วนในมุมของการทำธุรกิจ Digital ID เองก็จะช่วยให้เกิดโอกาสในการทำธุรกรรมที่สะดวกและง่ายดายมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้ในอนาคตเองนั้นก็อาจเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ บนโลก Digital มากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการทำธุรกรรมที่ต้องมีการยืนยันพิสูจน์ตัวตนในเชิงลึกได้ ในขณะที่ NDID เองก็อาจสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
แน่นอนว่าธุรกิจอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจาก Digital ID นี้ก็คือภาคการเงินและธนาคาร เพราะ Digital ID สามารถตอบโจทย์ของกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่ต้องมีการยืนยันพิสูจน์ตัวตนที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือได้มากมาย ทำให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนได้ สามารถทำงานแบบอัตโนมัติได้มากขึ้น และยังสามารถสร้าง Ecosystem เพื่อสนับสนุนลูกค้าของตนเองได้อีกด้วย ทำให้สุดท้ายแล้วธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารจะสามารถทำแบบ Digital ตลอด 24 ชั่วโมงได้นั่นเอง
ในระยะยาว หากมีการใช้งาน Digital ID กันอย่างแพร่หลายแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติที่สูงขึ้น เนื่องจากการทำธุรกรรมในประเทศไทยจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งในแง่ของต้นทุนที่ต่ำลง ความเร็วที่สูงขึ้น และความมั่นคงปลอดภัยที่มีมากขึ้น
สำหรับธุรกิจที่สนใจใช้งาน Digital ID สามารถติดต่อตัวแทนของ AIS Business ที่ดูแลธุรกิจของท่านได้ทันที เพื่อทำการพูดคุยปรึกษาถึงความเป็นไปได้ในแง่มุมต่างๆ และทำงานร่วมกับทีมงานของ AIS Business และ NDID หรือสามารถติดต่อที่ E mail : [email protected]