ช่วง COVID-19 ระบาดเช่นนี้ เปิดมือถือมาก็เจอแต่ข่าวเครียด ๆ ทำให้จิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้ สิ้นหวังไม่เว้นแต่ละวัน หากมีอะไรที่พอจะเยียวยาจิตใจได้บ้างก็คงจะดี
บทความนี้จะพาทุกท่านไปร่วมค้นพบ 6 วิธีที่ทำได้ทุกวันในการรับมือและจัดการกับความกังวลเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของสุขภาพจิต แนะนำโดย Wendy Suzuki ศาสตราจารย์และนักประสาทวิทยาจาก The Center for Neural Science ที่ New York University กันค่ะ
1. มองภาพผลลัพธ์เชิงบวก
ไม่ว่าจะเป็นตอนเริ่มต้นวันใหม่หรือจบวัน ให้ลองคิดทบทวนถึงเหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงนี้ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ แล้วลองมองภาพและผลลัพธ์ในแง่บวกเข้าไว้ ไม่ใช่แค่ “โอเค” แต่ต้องจินตนาการให้เป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
แต่นี่ไม่ใช่การเตรียมให้คุณตั้งรับกับความผิดหวังครั้งใหญ่นะคะ เพราะจริง ๆ แล้ว มันควรเป็นการเตรียมตัวกับความคาดหวังพร้อมรับผลลัพธ์เชิงบวก และเปิดรับความคิดใหม่ ๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ตามที่คุณได้วาดฝันไว้
2. เปลี่ยนความกังวลให้เป็นความก้าวหน้า
ความยืดหยุ่นของสมองทำให้เราสามารถปรับตัวได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ด้วยการเรียนรู้ที่จะสงบสติอารมณ์ ประเมินสถานการณ์ใหม่ ปรับความคิดของเรา และตัดสินใจอย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น
เราก็สามารถอาศัยข้อได้เปรียบจากสิ่งเหล่านี้เมื่อเราเตือนตัวเองเสมอว่า ความวิตกกังวลไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป
- ความโกรธ
เปลี่ยนความโกรธที่อาจปิดกั้นความสนใจและความสามารถในการทำงานให้กลายมาเป็นเชื้อเพลิงกระตุ้นและขับเคลื่อนคุณ พร้อมคอยย้ำเตือนถึงสิ่งสำคัญ
- ความกลัว
เปลี่ยนความกลัวที่อาจรื้อฟื้นความล้มเหลวในอดีตให้เป็นตัวช่วยตัดสินใจอย่างรอบคอบระมัดระวังมากขึ้น และสร้างโอกาสใหม่ให้เกิดขึ้น
- ความเศร้า
เปลี่ยนความเศร้าที่ทำให้เราหมดกำลังใจให้กลายมาเป็นแรงเสริมในการจัดลำดับความสำคัญใหม่และกระตุ้นให้คุณเปลี่ยนสภาพที่เป็นอยู่ รวมถึงพฤติกรรมของคุณด้วย
- ความกังวล
เปลี่ยนความกังวลที่ทำให้คุณผัดวันประกันพรุ่งและเป็นอุปสรรคในการไปถึงเป้าหมายให้กลายมาเป็นตัวช่วยปรับแผนงาน ปรับความคาดหวัง และทำให้เป้าหมายเป็นจริงมากขึ้น
- ความหงุดหงิดขุ่นเคือง
เปลี่ยนความรู้สึกขุ่นเคืองที่กั้นขวางแรงจูงใจของคุณให้กลายมาเป็นความท้าทายให้คุณพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
การเปรียบเทียบที่กล่าวมาทั้งหมดฟังแล้วอาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็เป็นการเปลี่ยนความคิดที่ทรงพลังและสร้างผลลัพธ์ที่ชัดเจน
3. ลองทำอะไรใหม่ ๆ
ทุกวันนี้ การได้ทำอะไรใหม่ ๆ นั้นง่ายกว่าที่เคย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ เข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงินก็สามารถช่วยให้ร่างกายและสมองได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่คุณอาจไม่เคยคิดถึงมาก่อน ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยาก แค่เป็นเรื่องที่เหมาะกับคุณและช่วยให้คุณได้ออกจาก Comfort Zone บ้างเล็กน้อยก็พอแล้ว
4. หาที่พึ่ง ขอความช่วยเหลือ
การที่สามารถขอความช่วยเหลือ ติดต่อกับเพื่อน ๆ และครอบครัว และยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกันนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณคลายความกังวลใจ แต่ยังให้ความรู้สึกว่าคุณไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง
แน่นอนว่ามันไม่ง่ายที่จะรักษาความสัมพันธ์ไว้ แต่ความเชื่อและความรู้สึกที่ว่า การมีคนที่ใส่ใจคุณอยู่เคียงข้างนั้นเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะช่วงที่เรารู้สึกตึงเครียด เพราะทำให้คุณยังคงยืดหยุ่นและมีสุขภาพจิตที่ดีได้เพราะมีคนคอยช่วยเหลือคุณอยู่ข้างหลัง
5. ฝึกทวีตแต่สิ่งดี ๆ
การคิดในแง่บวกเริ่มต้นที่ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก แค่ลองทวีตหรือโพสต์อะไรก็ได้เชิงบวก ไม่จำเป็นต้องแชร์ให้เห็นสาธารณะก็ได้ แค่เปลี่ยนแนวคิดก็เริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสดใสและสร้างพลังบวกได้ตลอดทั้งวันแล้ว
สำหรับใครที่ทำอะไรหุนหันพลันแล่น ลองคิดว่าถ้าเป็นเพื่อน ที่ปรึกษา หรือพ่อแม่ พวกเขาจะบอกเราว่าอย่างไร คุณก็ลองทวีตบอกกับตัวเองแบบนั้นก็ได้นะคะ
6. ดื่มด่ำกับธรรมชาติ
การได้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติส่งผลดีต่อสุขภาพจิต อย่างงานวิจัยในปี 2015 ก็เผยว่า การอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติก็ช่วยส่งเสริมความยืดหยุ่นทางอารมณ์และสุขภาวะทางจิตที่ดีอย่างมีนัยสำคัญ
คงไม่ต้องถึงขั้นเอาตัวเองไปอยู่ในป่านะคะ เพียงแวะเวียนไปสวนสาธารณะใกล้บ้านหรือสภาพแวดล้อมเงียบ ๆ ที่คนไม่พลุกพล่านก็ช่วยได้แล้วค่ะ แค่ได้หายใจเข้าออกสูดอากาศบริสุทธิ์ ฟังเสียงธรรมชาติ ชื่นชมบรรยากาศรอบตัวก็ช่วยสร้างการรับรู้ธรรมชาติรอบตัวและสงบจิตใจของเราได้เป็นอย่างดีแล้ว เหมือนได้มาเติมพลังกลับสู่สมดุลและฟื้นฟูจิตใจให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้งแล้วค่ะ