มูลนิธิ Bangkok Community Help โครงการทำดีได้ดี และบริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ในนาม Deemoney และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านแรงงาน ร่วมมือกันดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลแรงงานเพื่อนบ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่มีความประสงค์รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส Covid19 โดยใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของรัฐ ทั้งนี้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัส Covid19 ในระยะยาว
การเก็บข้อมูล จะมี 2 รูปแบบคือ คณะทำงานจะลงไปตั้งโต๊ะเก็บข้อมูลในแต่ละชุมชนตามมาตรการในการป้องกันโควิด ทั้งนี้เพื่อช่วยลดภาระในการกรอกข้อมูลที่แรงงานบางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึง โดยหากชุมชนใดต้องการให้เครือข่ายช่วยเหลือสามารถติดต่อมาได้ที่ ไลน์ไอดี semcontact
อีกรูปแบบคือ แรงงานสามารถกรอกข้อมูลด้วยตนเองผ่านกูเกิ้ลฟอร์ม โดยสามารถแสกนคิวอาร์โค้ด หรือ คลิ้กลิงค์ https://forms.gle/zCM9X6Gidou6GzFD7 เพื่อกรอกข้อมูล ซึ่งคณะทำงานจะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดประสานกับกระทรวงแรงงานและกรมควบคุมโรคในการดำเนินการฉีดวัคซีนต่อไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ซึ่งแรงงานต่างด้าวกลุ่มอาชีพต่างๆ นั้นเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นการช่วยหยุดยั้งการระบาดแบบกลุ่มก้อน หรือ Cluster ถ้าหากพวกเขาเหล่านั้นได้รับการจัดสรรและฉีดวัคซีน ได้อย่างรวดเร็ว และทำให้การฟื้นฟู และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างมั่นใจ
คุณประภาพร ปรียาภัสวรสกุล ผู้แทนเสมสิกขาลัย มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป กล่าวว่า การระบาดของโรค Covid19 ระลอกสามนี้มีความรุนแรงมากกว่ารอบที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณชุมชนแออัด หรือชุมชนพี่น้องแรงงาน ในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล การติดเชื้อจึงแพร่กระจายไปยังกลุ่มต่างๆอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าโรคไม่ได้เลือกบุคคล เชื้อชาติ หรือสัญชาติแต่อย่างใด ทุกคนเสี่ยงเท่ากัน เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ควบคุมหรือลดผลกระทบจากการแพระระบาดได้คือการที่ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ทั้งพี่น้องชาวไทย รวมถึงพี่น้องแรงงานทุกสัญชาติ
คุณรัศเมฆ ศรีเศรษฐี กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ในนามดีมันนี่ (Deemoney) และผู้แทนโครงการทำดีได้ดี กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะทำงานของโครงการทำดีได้ดี ได้ทำการแจกอาหารกล่องทุกวัน รวมถึงยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรให้กับชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯและแคมป์คนงานในช่วงที่ถูกกักตัวที่ผ่านมาร่วมกับมูลนิธิ Bangkok Community Helps และภาคีเครือข่าย ทำให้เห็นถึงสถานการณ์ที่แรงงานเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้ข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีน และไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร และทางดีมันนี่ อยากได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมในลักษณะโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ก็เป็นผู้ใช้บริการการโอนเงินบนแพลทฟอร์มของดีมันนี่ด้วยทำให้เป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้และยังยินดีให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง ไม่มีประกันสังคม โดยเป็นการขอจัดสรรวัคซีนจากภาครัฐต่อไป
ด้านนายซอมินอู ซึ่งเป็นแรงงานชาวทวาย ที่เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือกลุ่มผู้ติดเชื้อในชุมชนแรงงานในระลอกที่ผ่านมา กล่าวว่า ทุกคนต้องการวัคซีน ยิ่งด้วยสถานการณ์ตอนนี้ก็ยิ่งอยากได้ เพราะเท่าที่ทราบมาวัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงได้ ป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอด ซึ่งจะทำให้เพื่อนแรงงานสามารถดูแลตัวเองในที่พักได้หากติดเชื้อโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลที่ตอนนี้เราก็ไม่อยากเพิ่มภาระการดูแลให้บุคลากรทางการแพทย์ ตนคิดว่าไม่ว่าคนสัญชาติอะไรก็คิดแบบเดียวกัน
“พวกผมคนต่างถิ่น ต้องจากบ้านจากครอบครัวคนที่รักเพื่อมาทำงานมาหาเงิน ก็ต้องรักษาสุขภาพดูแลตัวเองเพื่อที่ว่าวันหนึ่งเราจะได้กลับไปอยู่บ้านกับคนที่เรารัก ที่ผ่านมาก็ได้เห็นคนไทยที่ทำงานอยู่ด้วยกันลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน มีคำหนึ่งผมยังจำได้ที่พวกเขาพูดกันว่า ขนาดคนไทยยังได้รับไม่ครบเลย ต่างชาติจะได้อย่างไร ตอนนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีหวัง ประกอบกับสถานการณ์ในชุมชนที่ผ่านมาติดเชื้อกันเยอะมากก็ทำให้หดหู่ แต่พอได้ทราบ
ข่าวว่าจะมีการสำรวจและจะจัดสรรวัคซีนให้แรงงานก็ดีใจ อยากให้ทุกคนได้รับวัคซีน ทั้งคนมีสิทธิ์ประกันสังคมและไม่มี เพราะเราทุกคนทุกสัญชาติอยู่ร่วมกัน จะได้ปลอดภัยสำหรับทุกคน” ซอมินอู กล่าวทิ้งท้าย
คุณไคมิน ละวิน ตัวแทนภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านแรงงาน กล่าวว่า จากประสบการณ์การกับพี่น้องทำงานร่วมกับพี่น้องแรงงาน ที่ผ่านมาพี่น้องแรงงานเข้าไม่ถึงวัคซีนเลย ทั้งที่เป็นจุดเสี่ยง พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ปัญหาหลักที่พบคือ เรื่องภาษา หมดสถานะทางทะเบียนประกันต่างๆเพราะไม่สามารถเดินทางไปต่ออายุได้ เรื่องค่าใช้จ่ายก็ด้วย สำหรับพี่น้องแรงงานเวลาทำอะไรสักอย่างไม่ได้แค่จ่ายตรงต้องมีส่วนเพิ่มอื่นๆ ค่านายหน้าก็ต้องจ่าย ข้อจำกัดของพวกเขามีหลายอย่าง อย่างคนที่มีสิทธิ์ประกันสังคม นายจ้างต้องเป็นคนดำเนินการลงทะเบียนให้ แต่นายจ้างไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องของสิทธิ์รับวัคซีนของลูกจ้าง ทำให้เสียในส่วนนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือ การจัดสรรวัคซีนให้แรงงาน ต้องเข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน ลดค่าใช้จ่ายให้พวกเขาได้ ให้ทั้งคนมีสิทธิ์และไม่มีมีสิทธิ์ประกันต่างๆอย่างทั่วถึง ก็จะช่วยได้เยอะเลย
การเก็บข้อมูลจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ระยะแรก ตั้งแต่ตอนนี้ถึง สิ้นเดือนกันยายน ระยะที่ 2 ภายในเดือนตุลาคม และระยะที่ 3 อาจเป็นการเก็บตกภายในเดือน ธันวาคม เพื่อกระจายและให้สามารถเข้าถึงกลุ่มพี่น้องแรงงานได้ทั่วถึงที่สุด