5 เคล็ดลับ สำหรับคนที่อยากจะได้งาน Data Scientist เป็นครั้งแรกในชีวิต

0

แน่นอนว่าในช่วงยุคที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น งานด้าน Data Scientist ถือว่าเป็นงานที่มีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องช่วยกันหาข้อมูลเชิงลึก (insight) บางอย่างออกมา เพื่อที่จะช่วยให้สามารถดำเนินการ (Take Action) ได้อย่างทันท่วงที แต่ในการหางานครั้งแรกในฐานะของ Data Scientist นั้นอาจจะลำบากเกินกว่าที่คิดก็เป็นได้ วันนี้มีเคล็ดลับดี ๆ ที่อาจช่วยให้คุณได้งาน Data Scientist ได้ง่ายขึ้นในบทความนี้

เคล็ดลับเหล่านี้ถือว่าเป็นคำแนะนำที่ดีมากจากประสบการณ์จริงของคุณ Renato Boemer ที่มีความพยายามเปลี่ยนสายงานมาทำเป็น Data Scientist ซึ่ง 5 เคล็ดลับนี้หวังว่าช่วยให้คุณสามารถหางานในฐานะ Data Scientist เป็นครั้งแรกในชีวิตได้ มีดังต่อไปนี้

การตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness)

สิ่งนี้มันอาจจะดูธรรมดา ๆ แต่ในความจริงแล้ว มันไม่ง่ายเลยที่คุณจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่คุณยังไม่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือคุณอาจจะรู้สึกว่าคุณรู้หมดแล้วแต่ที่จริงคุณยังไม่รู้อะไรถึงขนาดนั้น ตัวอย่างเช่น คุณรู้สึกว่าคุณมีความเชี่ยวชาญในการเขียนโมเดล AI ตัวหนึ่งแล้วเป็นอย่างดี แต่ในความจริงอาจจะยังไม่เข้าใจหลักการที่แท้จริง โดยคุณอาจจะแค่ไปสืบค้นข้อมูลมาแล้ว Copy Paste โค้ดคนอื่นมาใช้งานอยู่ก็ได้ เป็นต้น ดังนั้นการตระหนักรู้ตนเองรู้จักตนเองว่าอะไรคือสิ่งที่เราไม่รู้ หรืออะไรคือสิ่งที่เราควรจะต้องพัฒนาเพิ่มเติมนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ คือพยายามลองคุยในเนื้อหางานกับคนอื่นให้มากขึ้น พยายามอธิบายงานที่ตัวเองทำให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่าดู ซึ่งน่าจะทำให้คุณเริ่มเห็นจุดที่คุณไม่รู้ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

เรียนรู้จากผู้อื่น

ถ้าหากว่าคุณอยากจะเป็น Data Scientist เป็นครั้งแรกจริง ๆ ในเวลาระยะสั้น หนทางที่ทำได้เร็วที่สุดก็คือการเรียนรู้จากคนอื่นที่มีประสบการณ์มากกว่ามาก ๆ ซึ่งบรรดาอาจารย์หรือเหล่าผู้ช่วยอาจารย์นั้นถือว่าแหล่งข้อมูลที่ยอดเยี่ยมที่อาจเป็นเหมือนทางลัดที่จะพาคุณไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม ลองพยายามเรียนรู้จากคนเหล่านั้น ลองแชร์โค้ด ทดลองถามตอบกัน ก็จะทำให้เราเรียนรู้อะไรจากผู้รู้ได้อย่างรวดเร็วขึ้น

มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้มากกว่าเขียนโปรแกรม

แน่นอนว่างานด้าน Data Scientist จำเป็นจะต้องเขียนโปรแกรมให้เป็น เพราะว่างานในด้านนี้จำเป็นจะต้องทำงานในเชิงลึกมากกว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งงานอื่น ๆ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าการเขียนโปรแกรมนั้นก็คือ “ความอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา” อยากรู้อยากเห็น สนุกที่ได้เรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล และพยายามฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะอย่างสม่ำเสมอ แรงบันดาลใจเหล่านี้ก็จะทำให้คุณมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่คุณต้องการ

การรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่คุณต้องการได้โดยที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนนั้นอาจจะเป็นเรื่องนามธรรมสักเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น Data Scientist นั่นก็คือคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณอยากจะเป็น Data Scientist จริง ๆ หรือคุณอาจจะอยากต้องการเป็น Machine Learning Engineer หรือ Data Engineer หรือ Data Analyst มากกว่า ฟังดูแล้วตำแหน่งงานเหล่านี้ดูจะเป็นงานที่คล้าย ๆ กัน แต่จริง ๆ แล้วรายละเอียดจะต่างกันไป ดังนั้นคุณจึงจำเป็นจะต้องเข้าใจเพิ่มเติมก่อนว่า “อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ” และ “งานที่ว่านั้นมันตรงกับสิ่งที่คุณต้องการหรือไม่” ซึ่งสิ่งนี้เองจะส่งผลให้ตอนที่คุณไปสัมภาษณ์งานนั้นสามารถที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน

เคยชินกับการถูกปฏิเสธ

ในช่วงแรกของการลองหางานในด้าน Data Scientist ของคุณนั้น แน่นอนว่าคุณอาจจะต้องถูกปฏิเสธในช่วงเริ่มต้นหรืออาจจะถูกปฏิเสธอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาก็ได้ ซึ่งการถูกปฏิเสธงานบ่อย ๆ ครั้งเข้าก็อาจจะทำให้คุณหมดไฟหรือหมดแรงบันดาลใจในการเป็น Data Scientist ได้ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องหาวิธีที่จะทำให้แรงบันดาลใจยังคงอยู่สูงอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ลองต้องหาเพื่อน ๆ หรือกลุ่มชุมชนที่ต้องการเป็น Data Scientist เหมือนกัน มาร่วมพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ติดตามช่องทางของบรรดาคนที่ทำงาน Data Scientist อยู่ พูดคุยแล้วก็แบ่งปันความรู้สึกกัน เพื่อที่จะทำให้แรงบันดาลใจของคุณยังคงสูงอยู่อย่างต่อเนื่องได้

สุดท้ายนี้ทางทีมงานหวังว่าเคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยให้คุณที่อยากจะเป็น Data Scientist ได้ในสักวันหนึ่ง และสามารถประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ต้องการได้จริง ดังนั้นจึงขอฝากประโยคที่ทางคุณ Renato Boemer ฝากไว้ในท้ายบทความเพื่อปลุกไฟในตัวคุณขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ “Never Give Up! ไม่มีทางยอมแพ้”

ที่มา: https://towardsdatascience.com/5-tips-to-get-your-first-data-scientist-job-d8e5afd5a59b