9 สิ่งต้องรู้ก่อนซื้อ Notebook ถ้าไม่อยากโดนคนขายหลอก!

0

การซื้อ Notebook มาใช้เรียนหรือใช้ทำงานนั้นกลายเป็นปัญหาสามัญประจำบ้านของทุกครอบครัวและของทุกธุรกิจมาโดยตลอด และบทความนี้เราก็ได้รวบรวมประเด็นต่าง ๆ ที่คุณควรต้องรู้ก่อนเลือกซื้อ Notebook ให้เหมาะสมหรือคุ้มค่าจากประสบการณ์จริงมาแบ่งปันกัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการตลาดหรือโปรโมชั่นต่าง ๆ จนมองข้ามข้อเท็จจริงสำคัญในเชิงเทคนิคไปค่ะ

0. อย่ารีบตัดสินใจจากแค่โปรโมชันหรือคลิปรีวิว! ตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนซื้อเสมอ!

ถึงแม้ว่าโปรโมชันต่าง ๆ หรือคลิปรีวิวนั้นจะดึงดูดและน่าสนใจมาก ๆ แต่คุณก็ไม่ควรรีบเร่งตัดสินใจจนเกินไป เพราะบางครั้งโปรโมชันที่จัดออกมานั้นก็คือ การนำของตกรุ่นออกมาลดราคาเพื่อล้างสต็อก หรือบางครั้งคลิปรีวิวนั้นก็อาจได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์จนต้องตัดเนื้อหาส่วนที่เป็นข้อเสียของผลิตภัณฑ์ออกไปอยู่บ้างเหมือนกัน

แนวทางที่ดีที่สุด คือ ถ้าหากคุณพบโปรโมชันหรือรีวิวไหนที่คุณรู้สึกสนใจอยากซื้อตาม ก็เซฟ URL หรือข้อมูลนั้น ๆ เก็บเอาไว้ก่อน แล้วค่อย ๆ นำข้อมูลแต่ละส่วนของสินค้านั้น ๆ ไปลองค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมดู เช่น เอาชื่อรุ่น หรือส่วนประกอบต่าง ๆ ในเครื่องไปเสิร์ชดูใน Google เพื่อให้เข้าใจก่อนว่าโปรโมชันหรือรีวิวนั้น ๆ ดีจริงหรือคุ้มค่าน่าซื้อจริงหรือไม่ แล้วจึงค่อยตัดสินใจ

จากประสบการณ์ส่วนตัวนั้น บางครั้งเราก็จะพบว่าบางโปรโมชันนั้นเอาของเก่าตกรุ่นมาลดราคาบ้าง หรือบางโปรโมชันนั้นก็เอาของที่ขายไม่ออกเพราะขาดบางอย่างไปอีกนิดก็จะเป็นของดีแล้วมาลดบ้าง แต่บางทีเราก็จะพบกับโปรโมชันที่ดีมากจริง ๆ อยู่บ้างเช่นกัน ดังนั้น การแยกแยะว่าโปรโมชันไหนดี รีวิวไหนน่าเชื่อถือได้ จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญมากค่ะ

1. เลือก CPU ให้เป็น อย่าเลือก CPU ตกรุ่นที่ชื่อรุ่นหรือ Spec ดูดี แต่จริง ๆ ตกยุคไปหลายปีแล้ว

ถึงแม้การเลือก Notebook จะซับซ้อนน้อยกว่าคอมประกอบ เพราะเราสามารถมองข้ามเรื่องการเลือก Mainboard, Power Supply และรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ไปได้ แต่หัวใจสำคัญอย่างการเลือกรุ่น CPU ให้เหมาะสมนั้นก็ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใส่ใจ

(Image credit: Christian Wiediger via Unsplash)

โดยส่วนใหญ่แล้ว การเลือก CPU นั้นก็ควรจะต้องเลือกตามปัจจัย ดังต่อไปนี้

  • Generation ของ CPU ควรเป็นรุ่นล่าสุดของผู้ผลิตรายนั้น ๆ หรืออย่างน้อยก็ควรเป็นรุ่นก่อนหน้า 1 Generation เพื่อไม่ให้เครื่องตกรุ่นเร็วเกินไป และยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิต CPU ต่อไปในระยะยาว เพราะ CPU แต่ละ Generation นั้นถึงแม้จะมีตัวเลข Hz และจำนวน Core/Thread ที่เท่ากัน แต่ความเร็วก็ต่างกันมากจากเทคโนโลยีการผลิต การออกแบบ และการปรับปรุงในแต่ละปี การดูแต่ตัวเลข Hz หรือ Core/Thread เท่านั้นจึงไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ และถึงแม้ราคาจะน่าดึงดูดแค่ไหน แต่เราก็ไม่แนะนำให้ซื้อรุ่นเก่ามากนักเพราะใช้ในระยะยาวแล้วก็อาจช้าเกินไปได้
  • ระวังเลือก CPU ผิดรุ่น โดยทั่วไปรุ่นที่ใช้กับ Notebook จะมีสองแบบ คือ รุ่นสำหรับ Mobile Computing คือใช้กับ Notebook ทั่วไป และรุ่นประหยัดพลังงานเป็นพิเศษสำหรับคอมขนาดเล็กมาก ๆ ซึ่งก็แนะนำให้ใช้รุ่นที่เป็น Mobile ปกติจะรองรับการใช้งานทั่วไปได้ดีกว่า
  • ในแต่ละ Generation ของ CPU จากผู้ผลิตแต่ละราย จะมีการแบ่งรุ่นย่อยตามประสิทธิภาพและการใช้งานอีก ซึ่งตรงนี้ก็ควรต้องเลือกให้เหมาะสมเช่นกันว่าเราต้องการประสิทธิภาพระดับไหน หลัก ๆ คือต้องรู้ก่อนว่าจะใช้เครื่องทำอะไรบ้าง แล้วลองปรึกษาผู้รู้ดูก่อน จากนั้นจึงค่อยไปเลือกให้เหมาะ
  • หากนำ CPU ต่างยี่ห้อมาเปรียบเทียบกับ ก็จะมีค่า Hz หรือ Core/Thread ที่แตกต่างกัน ซึ่งถึงแม้ข้อมูลส่วนนี้จะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการทำงานแต่ก็ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพตรง ๆ ได้อยู่ดี อาจต้องดูผล Benchmark หรืออื่น ๆ ประกอบด้วย
  • การเลือกคอมที่ดีไม่ใช่การเลือก CPU ที่เร็วที่สุดเท่านั้น แต่คือการเลือกภาพรวมของเครื่องให้เหมาะกับการใช้งานมากที่สุด เพราะโดยทั่วไปเราก็ไม่ได้ใช้งาน CPU เต็ม 100% ตลอดเวลาอยู่แล้ว

เรื่องนี้ถือว่ายากและต้องติดตามกันค่อนข้างเยอะทีเดียว เพราะในแต่ละปี ผู้ผลิต CPU แต่ละค่ายอย่าง Intel หรือ AMD นั้นต่างก็ออกรุ่นใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

2. เลือก RAM ให้พอใช้ อย่าไปเชื่อคำโฆษณาว่า “แรง”

RAM เองก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการใช้งานเครื่อง Notebook ให้ได้เร็ว ๆ เช่นกัน เพราะถ้าเรามี RAM น้อยไปก็จะทำให้เราไม่สามารถใช้งาน Application ขนาดใหญ่ได้เร็ว ๆ หรือไม่สามารถสลับ Application ไปมาได้ไว ๆ หรือไม่สามารถเปิด Browser หลาย ๆ แท็บได้ หรือบางครั้งก็อาจเปิด App บางอย่างไม่ขึ้นเลยก็เป็นได้

(Image credit: Michael Dziedzic via Unsplash)

เวลาเลือก RAM หลาย ๆ คนจะงงกับพวกค่า Hz หรืออะไรต่าง ๆ แต่พอมาใช้ Notebook ส่วนใหญ่ถ้าเราเลือก CPU Generation ล่าสุดหรือเกือบล่าสุดมาอยู่แล้ว ตัวเครื่องก็มักใช้งานได้กับ RAM ที่เป็นรุ่นใหม่ ๆ และทำงานได้เร็วพอสมควรอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้น จึงควรพิจารณาปัจจัยในการเลือก RAM ดังนี้

  • เลือกขนาดให้เพียงพอต่อการใช้งาน และถ้าต้องอัปเกรดเพิ่มก็ทำได้เลย ตัวอย่างเช่นโดยปกติสำหรับปี 2021 นี้ ถ้าหากใช้ Windows 10 นั้น RAM ขนาด 4GB อาจจะเล็กเกินไป, 8GB ก็พอใช้งานทั่ว ๆ ไปได้แต่ซัก 1-2 ปีข้างหน้าก็อาจต้องไปอัปเกรดเพิ่มถ้าใช้แล้วรู้สึกช้า, 16GB คือใช้ App ได้แทบทุกประเภทสำหรับการทำงานแล้ว แต่ถ้าสำหรับการทำงาน IT ที่ต้องมีการใช้ VM, Container หรือพัฒนา Software ขนาดใหญ่ในเครื่องตัวเอง ก็อาจต้องใช้ถึง 32GB เป็นต้น ซึ่งตัวเลขพวกนี้จะเปลี่ยนเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ในแต่ละปี หรือเมื่อมี Windows รุ่นใหม่ ๆ อย่าง Windows 11 ออกมาก็ต้องดูกันใหม่อีกที
  • ความเร็วของ RAM อาจไม่เป็นประเด็นมากเท่าขนาด เพราะถ้าขนาดไม่พอใช้ยังไงก็ช้า แต่ความเร็วของ RAM ถ้าเป็นรุ่นใหม่ ๆ ก็ไม่ได้หนีกันมากขนาดที่ใช้งานแล้วจะรู้สึกได้ชัดเจน
  • ความเข้ากันได้ของ RAM กับตัวเครื่องนั้นสำคัญมาก วิธีการที่ง่ายก็คือ ให้ร้านที่ไว้ใจได้เลือกและทำให้ได้เลย เขาจะได้ติดตั้งและทดสอบให้ก่อนส่งมอบเครื่องทีเดียว เพราะถ้าเป็นร้านเครือใหญ่ ๆ ชื่อดัง ๆ ไว้ใจได้ ก็คงไม่อยากจะมาเสียชื่อกับการเลือกชิ้นส่วนที่เข้ากันไม่ได้มาให้ลูกค้าใช้อยู่แล้ว
  • RAM เป็นอะไรที่เหลือดีกว่าขาด และด้วยราคา RAM ที่จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้แพงมาก การประเมินราคาเผื่อการอัปเกรด RAM ไว้แต่แรกเลยก็จะทำให้เลือกเครื่องได้เหมาะสมขึ้น
  • ไม่ใช่ทุกเครื่องที่จะอัปเกรด RAM เพิ่มได้ หรือบางร้านเองก็ไม่มี RAM เอาไว้อัปเกรดให้เรา ดังนั้น ควรตรวจสอบประเด็นนี้ให้ดีก่อนซื้อด้วย

ปัญหาที่เรามักพบในโฆษณาขาย Notebook คือ ถึงแม้บางเครื่องจะให้ RAM มาน้อยมาก แต่คนขายก็ยังเคลมว่าเครื่องแรงแน่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น CPU แรงบ้าง หรือ SSD ใหญ่บ้าง แล้วอาจข้ามเรื่อง RAM ไป พวกนี้ต้องระวังให้ดีค่ะ

3. เลือก Disk ให้เป็น จะใช้ SSD หรือ HDD หรือใช้ทั้งคู่ดี? แล้วต้องมีความจุเท่าไหร่?

เวลาเราเลือกซื้อ Disk นั้นเราต้องเข้าใจก่อนว่า SSD และ HDD ต่างกันอย่างไร ซึ่งหากสรุปสั้น ๆ จะมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • SSD – Solid State Drive เป็นเทคโนโลยีใหม่ ใช้เทคโนโลยี Flash มีข้อดี คือ มีความเร็วสูงมาก เหนือกว่า HDD แบบชัดเจนรู้สึกได้ แต่มีความจุค่อนข้างน้อย และมีราคาที่สูงกว่า HDD แต่โดยทั่วไปถ้าเลือกขนาดแค่ให้พอต่อการใช้งาน ราคาก็เรียกได้ว่าเอื้อมถึงแล้ว โดยข้อเสียที่ต้องรู้อีกข้อคือ ถ้าเขียนข้อมูลลง SSD เยอะมาก ๆ อุปกรณ์อาจเสื่อมสภาพได้
  • HDD – Hard Disk Drive ใช้เทคโนโลยีเก่า ใช้เทคโนโลยีจานหมุน มีข้อดีคือมีความจุสูงในราคาที่ค่อนข้างถูก แต่ก็ทำงานได้ช้ากว่า SSD แบบชัดเจน โดยบางครั้งเราอาจจะเห็นรุ่น Hybrid ที่ผสม SSD สัดส่วนเล็ก ๆ มากับ HDD เพื่อให้ระบบทำงานได้เร็วขึ้นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เร็วขนาดเทียบ SSD ได้
(Image credit: Glen Carrie via Unsplash)

คราวนี้ โดยปกติแล้วเวลาเราใช้คอมแล้วรู้สึกช้า มักจะมาจากปัจจัยเหล่านี้ พร้อมวิธีแก้คร่าว ๆ ดังนี้

  • เปิดคอมแล้วช้า ต้องรอนานกว่าจะเริ่มทำงานได้ อันนี้ถ้าซื้อเครื่องที่เป็น SSD แล้วลง Windows 10 บน SSD เลย ก็มักจะทำให้การบูทเครื่องเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการ Login การอัปเดต และอื่น ๆ ด้วย
  • เปิดโปรแกรมแล้วช้า ต้องรอโหลดนาน อันนี้เราสามารถแก้ง่าย ๆ ได้ในตอนลงโปรแกรมให้ลงไปบน SSD แอปก็จะทำงานได้เร็วขึ้นมากทีเดียวตอนโหลดครั้งแรก แต่ก็ต้องระวัง SSD ถ้าใช้งานเกือบเต็มหรือเต็มเลยอาจทำงานช้าลงได้
  • เก็บไฟล์เยอะ ๆ แล้วช้า อันนี้เป็นธรรมชาติค่ะ ดังนั้น ถ้าหากการใช้งานทั่ว ๆ ไปไม่ได้ต้องลงโปรแกรมหรือเก็บไฟล์อะไรเยอะมาก ก็ใช้ SSD ชุดเดียวพอได้ (แต่ก็ต้องเลือกขนาดให้ดี) แต่ถ้าจะเก็บไฟล์เยอะ แนะนำให้ใช้เครื่องที่ติดตั้ง SSD 1 ชุดสำหรับลง Windows และติดตั้ง HDD 1 ชุดสำหรับเก็บไฟล์โดยเฉพาะ แต่ถ้าเครื่องที่เราชอบมันใส่ Disk ได้ลูกเดียว ก็แนะนำซื้อเป็น SSD ไป แล้วค่อยซื้อ External SSD/HDD มาต่อผ่าน USB ใช้งานต่อไปภายหลัง
  • ถ้างบน้อยจริง ๆ ก็ต้องทนใช้เครื่องช้าหน่อยค่ะ เครื่อง HDD ล้วน ๆ ก็ต้องรอบ้างอะไรบ้างในตอนใช้งาน แต่ก็จะลงตัวในงบประมาณที่จำกัดค่ะ

คราวนี้ควรเลือก SSD สำหรับลง Windows ที่ขนาดไหนดี? โดยปกติจะแนะนำเผื่อไปเลยว่ากันที่ไว้สำหรับ Windows อย่างเดียวก็ 60GB – 120GB ไปเลย เผื่อจะมีอัปเดตอะไรใหญ่ ๆ ดังนั้น SSD ขั้นต่ำก็ควรจะมีขนาด 240GB ขึ้นไป แต่เดี๋ยวนี้หลายเครื่องก็ให้ขนาด 512GB หรือ 1TB กันมาแล้ว ส่วน HDD ก็เลือกตามที่ต้องการใช้งานค่ะ

ส่วนการเป็น SSD ประเภทไหน เอาจริง ๆ ถ้าเราไม่ได้คิดจะแกะเครื่องเปิดมาอัปเกรดเอง ก็ไม่ได้ส่งผลต่างอะไรขนาดนั้น ความเร็วของ SSD เองก็ถือว่าเร็วมาก ๆ ในการใช้งานตามปกติอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้เก่งเรื่องคอมมาก รายละเอียดปลีกย่อยพวกนี้ก็พอจะปล่อยผ่านได้อยู่ค่ะ

4. คนขายบอกเล่นเกมแรง ๆ ได้ จะเชื่อได้จริงไหม?

โดยปกติการ์ดจอใน Notebook นั้นจะมีด้วยกัน 4 แบบ

  • ใช้การ์ดจอ On-board คือ เป็นชิปที่มากับตัวบอร์ดของเครื่องเลย กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการ์ดที่เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป ดูหนังฟังเพลงได้ เล่นเกมเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ แต่ถ้าเป็นเกมที่แสดงผลหนัก ๆ หรือใช้งานกราฟิกหนัก ๆ พวกนี้อาจไม่เหมาะนัก
  • ใช้การ์ดจอแยกสำหรับทำงาน คือ ใช้การ์ดจอแยกติดตั้งเสริมเข้ามาให้ แต่เป็นการ์ดจอรุ่นทำงานที่เน้นการประมวลผลภาพในเชิงทำงานเป็นหลัก ก็จะทำให้สามารถนำไปใช้ทำงานกราฟิก เช่นงานออกแบบ งานทำโมเดล 3D ได้ดีขึ้น รันงานนาน ๆ ต่อเนื่องหลายชั่วโมงได้โดยไม่พัง แต่ก็ไม่ได้เล่นเกมได้ลื่นนัก
  • ใช้การ์ดจอแยกสำหรับเล่นเกม คือ จะใช้การ์ดจอแยกสำหรับเล่นเกมติดตั้งมาเลย ทำให้ใช้ทำงานก็ได้ เล่นเกมก็ได้ แต่จะไม่เหมาะกับการใช้รันงานต่อเนื่องหลาย ๆ ชั่วโมง และไม่ได้แรงเท่าการ์ดจอในเครื่องประกอบแน่นอน
  • มีการ์ดจอภายนอก มีน้อยรุ่นมากที่รองรับ ส่วนใหญ่เป็นรุ่น Gaming ระดับสูงเลย กลุ่มนี้ก็จะให้การ์ดจอที่แรงมาก ๆ มาได้ แต่ก็มีราคาที่สูงมากเช่นกัน
(Image credit: sadeq shahsvan via Unsplash)

ดังนั้น ถ้าโจทย์ของเราคือจะเล่นเกมด้วย ก็ต้องดูว่าเกมที่เราจะเล่นมันต้องประมวลผลกราฟิกเยอะแค่ไหน ถ้าอยากเล่นเกมเก่า ๆ เป็นหลักก็อาจใช้แค่เครื่องการ์ด On-board ก็พอ แต่ถ้าอยากเล่นเกมปัจจุบันหน่อยแต่ไม่ใช่เกมที่ใหญ่มากหรือภาพสวยมากก็ควรต้องซื้อรุ่นที่มีการ์ดจอเล่นเกมในตัว ส่วนรุ่นการ์ดจอทำงานถึงจะพอเล่นเกมได้บ้าง แต่ถ้ามองหารุ่นการ์ดจอเล่นเกมไปเลยก็อาจเหมาะสมกว่า

ส่วนความแรงในแง่อื่น ๆ อย่าง CPU, RAM, SSD ก็มีผลเช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะเล่นเกมให้ได้ลื่น ๆ สบาย ๆ ก็อาจต้องลงทุนเยอะหน่อยเพราะต้องแรงทุกส่วน แต่ทุกวันนี้เครื่อง Gaming ก็ถือว่าราคาถูกกว่าเมื่อก่อนค่อนข้างมากแล้ว

อย่างไรก็ดี อีกสิ่งที่ต้องเตือนก็คือถ้าจะซื้อรุ่น Gaming มาเล่นเกมเยอะ ๆ เลย อาจะต้องหาที่วางคอมที่ระบายอากาศได้ดีมาก ๆ หน่อย เพื่อไม่ให้เครื่องเสื่อมอายุเร็วเกินไป อาจยกเครื่องขึ้นมาจากโต๊ะให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น หรือมีพัดลมมาช่วยเป่าระบายความร้อนเพิ่ม แต่ก็ต้องระวังเรื่องความชื้นด้วย

5. ซื้อเครื่องที่มี Windows 10 มาให้ VS ซื้อเครื่องเปล่าที่มากับ DOS อันไหนดีกว่า?

หลายครั้งที่คอมพิวเตอร์มีราคาถูกเพราะไม่มี Windows 10 มาให้ ทำให้สามารถมี Spec แรง ๆ ในราคาที่จำกัดได้ และกลายเป็นที่ล่อตาล่อใจต่อผู้ซื้อที่จะนำ Windows 10 เถื่อนมาลงแทนได้

(Image credit: Clint Patterson via Unsplash)

การนำ Windows 10 เถื่อนมาลงนี้เป็นสิ่งที่เราไม่แนะนำ ไม่ใช่เพียงแค่เพราะประเด็นด้านกฎหมายลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่การใช้ Windows 10 เถื่อนยังอาจทำให้คุณไม่สามารถอัปเดตเครื่องได้ ไม่สามารถใช้งานแบบปกติได้ ไม่สามารถเปิดใช้งานอย่างเต็มความสามารถได้ รวมถึงเวลามีปัญหาขึ้นมาก็ไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการปกติเช่นกัน ในระยะยาว Windows เถื่อนนั้นจะสร้างปัญหาในการใช้งานและการดูแลรักษากว่า Windows 10 แท้เป็นอย่างมาก

ดังนั้น อีกจุดที่ควรดูในตอนซื้อก็คือ ราคาของเครื่องนี้รวม Windows 10 มาให้หรือยัง เป็นรุ่นไหน และบางทีบางเครื่องก็อาจมี Microsoft Office มาให้ด้วย ดังนั้น การพิจารณาตรงนี้ให้ดีก็อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวและเพิ่มความสะดวกในการใช้งานและดูแลรักษาได้ดีเช่นกัน

6. บางปัญหาก็อาจไม่สามารถดูได้เฉพาะข้อมูล Spec แต่ต้องหารีวิวจากผู้ใช้งานจริงด้วย

ผ่านจากขั้นตอนของการเลือก Spec หลัก ๆ กันไปแล้ว ก็ถึงเวลาของการตรวจสอบรีวิวในโลกออนไลน์กันก่อนว่า เครื่องรุ่นที่เราหมายตาเอาไว้มีปัญหาอะไรหรือไม่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักไม่สามารถดูได้จากแค่ Spec เครื่อง เช่น

  • ใช้งานจริงแล้วไฟดูด
  • Wi-Fi เชื่อมต่อติด ๆ ดับ ๆ
  • พัดลมดังตลอดเวลา
  • เครื่องพังง่าย
  • จอกะพริบ
  • ฯลฯ

ดังนั้น ขั้นตอนของการตรวจสอบนี้จึงสำคัญมาก ซึ่งโดยหลัก ๆ คือต้องรู้ชื่อรุ่นคร่าว ๆ ชื่อรุ่นเต็ม ๆ แล้วลองไปเสิร์ชใน Google ดูทั้งแบบภาษาอังกฤษและภาษาไทย ส่วนถ้าเป็นเครื่องใหม่ยังไม่ค่อยมีใครรีวิวการใช้งานจริงเท่าไร ก็อาจตรวจสอบยากหน่อย แต่อย่างน้อย ๆ ก็ควรลองสอบถามคนรอบตัวดูก่อนค่ะ

7. เครื่อง Consumer VS เครื่อง Commercial เลือกอันไหนดี?

เครื่อง Notebook ส่วนใหญ่ที่วางขายอยู่นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่เครื่อง Consumer สำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไป และเครื่อง Commercial สำหรับการใช้งานเชิงธุรกิจ ซึ่งจุดแตกต่าง มีดังนี้

  • เครื่อง Consumer จะเน้นเรื่องของ Spec และราคาเป็นหลัก เน้นความคุ้มค่าของผู้ซื้อ ส่วนการออกแบบก็จะมีด้วยกันหลากหลาย มีน้ำหนักให้เลือกใช้หลายระดับใน Spec เดียวกัน ซึ่งราคาก็จะต่างกันออกไป มีทั้งเครื่องที่ใช้เล่นเกมและใช้ทำงานได้
  • เครื่อง Commercial จะเน้นเรื่องของการทดสอบและบริการเป็นหลัก แม้ว่าเครื่องจะไม่ได้เน้นเรื่องประสิทธิภาพเป็นอันดับแรก แต่ส่วนใหญ่ก็จะเปิดให้เราเลือกส่วนประกอบในเครื่องเองได้ เลือกใช้ส่วนประกอบภายในเครื่องที่ค่อนข้างดี ผ่านการทดสอบมาดีว่าใช้งานได้ต่อเนื่องไม่มีปัญหาจุกจิก และมีบริการหลังการขายในระดับธุรกิจ เครื่องส่วนใหญ่จะใช้ทำงานเป็นหลัก แม้จะรองรับการ์ดจอก็เป็นรุ่นสำหรับใช้ทำงาน

อย่างไรก็ดี เครื่องที่วางขายทั่วไปก็มักเป็นเครื่อง Consumer ที่หาซื้อได้ง่าย ๆ ส่วนเครื่อง Commercial มักจะต้องซื้อผ่าน Reseller หรือ Distributor ก็ต้องลองตรวจสอบค้นหากันไปค่ะ

(Image credit: XPS via Unsplash)

8. ซื้อ Notebook ดี ๆ ไปเลย จะเป็นตัวจบได้จริง ๆ เหรอ?

อันที่จริงแล้วทางเลือกในการลงทุนเทคโนโลยีสำหรับใช้ส่วนตัวมีด้วยกันหลากหลายแนวทาง การซื้อเครื่องดี ๆ แรง ๆ เครื่องเดียวไปก็อาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับทุกคนเสมอไป เช่น

  • บางคนอาจใช้ Notebook คู่กับ Tablet และแบ่งกิจกรรมที่ใช้แต่ละอุปกรณ์ออกจากกันอย่างชัดเจน
  • บางคนอาจใช้ Notebook คู่กับคอมประกอบ ทำให้เลือก Notebook ที่ไม่ต้องแรงมากสำหรับใช้ทำงานอย่างเดียว ส่วนเกมก็ไปลงกับคอมประกอบ โดยหากเครื่องใดเสียก็สามารถใช้อีกเครื่องทดแทนได้ชั่วคราว
  • บางคนอาจใช้ Notebook เครื่องเดียวให้จบเลย ก็ลงทุนกับเครื่องแรง ๆ ไป
  • บางคนคิดว่าใช้มือถือเป็นหลักในการสื่อสารทำงานทุกวันอยู่แล้ว ดังนั้น คอมมีไว้ก็แค่จัดการเอกสารบ้างเป็นครั้งคราว

ดังนั้น จริง ๆ ก่อนตัดสินใจ ควรวางแผนเรื่องพวกนี้ให้ดี ในระยะยาวก็จะประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความคล่องตัวในการใช้งานได้มาก

(Image credit: Joshua Woroniecki via Unsplash)

9. ดูเผื่อระบบปฏิบัติการรุ่นล่าสุดด้วย

ถ้าคิดว่าจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ไปนาน ๆ การดูว่าจะรองรับ Windows 11 ได้หลังจากนี้ก็ถือว่าเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ และคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ หลังจากนี้ก็จะเริ่มนำเสนอจุดเด่นตรงนี้กันมากขึ้นแล้ว ก็เป็นอีกปัจจัยที่ควรต้องพิจารณาสำหรับการเลือก Notebook หลังจากนี้ค่ะ

บททิ้งท้าย

อ่านกันจนจบแล้ว หลาย ๆ คนคงรู้สึกว่าการเลือกซื้อ Notebook นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่อันที่จริงแล้วหากใช้เวลาศึกษามาตั้งแต่เนิ่น ๆ ค่อย ๆ เรียนรู้ไป เรื่องพวกนี้ถือเป็นเรื่องที่รู้แล้วคุ้มค่ากับชีวิตมาก เพราะสุดท้ายตลอดช่วงชีวิตของเราหลังจากนี้ เราก็คงต้องซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์, Tablet, Smartphone มาใช้ทำงานหรือใช้เล่นกันทั้งชีวิตอยู่แล้ว และของพวกนี้ก็มีอะไรใหม่ ๆ ออกมาตลอด

ดังนั้น ถ้าเรารู้เรื่องพวกนี้แล้ว เวลาตัวเราเองจะซื้อหรือคนรอบข้างจะซื้อ เราก็จะใช้ความรู้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ เกิดการลงทุนที่คุ้มค่าได้สูงสุดนั่นเอง และเวลามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออก ถ้าเรามีพื้นฐานมาบ้างเราก็จะเข้าใจมันได้ง่าย ไม่ได้เสียเวลามากเหมือนตอนมาเริ่มเรียนรู้แรก ๆ ค่ะ

หากใครอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกท้อแท้หรือรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยาก ทางทีมงาน ADPT.news เราก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่อย ๆ เรียนรู้กันไปนะคะ