สำหรับคำว่า Cybersecurity นั้นเรียกได้ว่าเป็นอีกประเด็นร้อนแห่งปี 2021 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปก็ว่าได้ ตามที่สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังต่อเนื่องมาจากปีก่อน ทำให้เราในฐานะผู้ใช้จำเป็นต้องทำธุรกรรมออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่ง 5 เทคโนโลยีเหล่านี้คือสิ่งที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ในปี 2022 ที่อาจจะพอช่วยป้องกันตัวเองภัยกลโกง (Fraud) ในโลกไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
1. Virtual Private Network (VPN)
ปัจจุบัน VPN นั้นไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานเฉพาะภาคธุรกิจอีกต่อไปแล้ว ซึ่ง VPN เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่พอช่วยป้องกัน Fraud ได้ส่วนหนึ่ง อย่างเช่นถ้าหากคุณเชื่อมต่อกับ WiFi ตามคาเฟ่หรือสนามบินแล้วไม่ได้ใช้ VPN การเชื่อมต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ตในที่สาธารณะนั้นจะไม่ได้มีการเข้ารหัสข้อมูลหรือซ่อน IP Address ไว้ ซึ่งการใช้งาน VPN จะช่วยในเรื่องนี้ได้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์สามารถดักจับเอาข้อมูลไปได้โดยง่ายนั่นเอง
2. Password Manager
คนส่วนใหญ่มักจะมีพาสเวิร์ดที่เชื่อมันว่าดีกันสักชุดหนึ่งเป็นอย่างน้อยอยู่แล้ว หากแต่ก็มักจะไม่เปลี่ยนกันบ่อย ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะยังคงจำพาสเวิร์ดนั้น ๆ ได้ อีกทั้งยังมักจะใช้ซ้ำ (Reuse) อีกด้วย และอาจจะเพิ่มเลขอะไรบางอย่างต่อท้าย จะได้จำง่าย ๆ เป็นต้น ซึ่งเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเรื่องพาสเวิร์ดที่จะช่วยให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่น
- ใช้ Password Manager ที่น่าเชื่อถือเพื่อช่วยจัดเก็บพาสเวิร์ดต่าง ๆ ไว้ ป้องกันการหลงลืมเกิดขึ้น และยังสามารถเปลี่ยนแปลงพาสเวิร์ดได้เรื่อย ๆ ด้วย
- ควรเปิดใช้ Two-Factor Authentication ในทุก ๆ บัญชี
- ตั้งพาสเวิร์ดอย่างน้อย 12 ตัวอักษร โดยมีสัญลักษณ์ ตัวเลขผสมอยู่ด้วย และใช้ตัวอักษรตัวเล็กและใหญ่ผสมกัน
- หลีกเลี่ยงคำศัพท์ที่ชัดเจน หรือว่าคำทั่ว ๆ ไปรวมถึงวันเกิด ถนนที่อยู่ หรือข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง
3. บริการ Identity Theft Protection
บริการ Identity Theft Protection นั้นสามารถสแกนรายการได้ทั้งบน Dark Web และเว็บทั่วไป ในการตรวจสอบข้อมูลของคุณว่ามีการถูกนำไปขายอยู่ที่ไหนหรือมีธุรกรรมอะไรออนไลน์ที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ ซึ่งบริการเหล่านี้จะช่วยสืบค้นข้อมูลของคุณและแจ้งเตือนคุณได้ว่าข้อมูลคุณนั้นได้รั่วไหลไปแล้วหรือไม่ ทำให้ผู้ใช้งานมีความสะดวกและสบายใจได้มากขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องไปตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเอง
4. บริการ Malware Protection
ปัจจุบันแฮกเกอร์มีวิธีการหลอกล่อ ล่อลวง เพื่อเอาข้อมูลไปได้มากมาย ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่นิยมใช้นั่นคือการติดตั้งมัลแวร์ (Malware) ลงไว้ในเครื่องของเหยื่อเพื่อที่จะมาเข้าถึงอุปกรณ์มาเก็บข้อมูลส่วนตัวหรือว่าให้ส่งข้อมูลกลับไปได้ โดยปัจจุบันนี้อาจเรียกว่าจำเป็นที่จะต้องมีระบบป้องกันมัลแวร์ติดตั้งไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนแล้วไม่ว่าจะเป็นเครื่ององค์กรหรือว่าส่วนตัวก็ตาม เพื่อที่จะช่วยปกป้องข้อมูลของคุณไม่ให้ถูกขโมย ดัดแปลง หรือว่าถูกลบ หรือว่าถูกยึดอุปกรณ์นั้น ๆ ไปได้
5. Secure Socket Layer (SSL)
อย่างที่รู้กันว่าเว็บไซต์ทั่วไปในโลกอินเตอร์เน็ตตอนนี้จะมีโปรโตคอล HTTPS ที่จะช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเวลาที่ผู้ใช้เข้าชมเว็บไซต์ธนาคารหรือว่าเว็บช้อปปิ้งต่าง ๆ ควรตรวจสอบความปลอดภัยในจุดนี้ด้วยว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีใช้ SSL อยู่หรือไม่ ซึ่งในเบราว์เซอร์จะมีการแสดงเป็นรูปแม่กุญแจขึ้นมาถ้าหาก URL นั้นเข้าผ่านโปรโตคอล HTTPS ที่แปลว่ามีความปลอดภัยในอีกระดับหนึ่งแล้ว และถ้าหากเป็นการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือก็ควรจะเป็นแอปพลิเคชันทางการที่มาจากหน่วยงานนั้นจริง ๆ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นการใช้งานผ่านโปรโตคอล HTTP (ไม่มี S) นั่นแปลว่าข้อมูลที่ส่งผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นจะไม่ได้มีการเข้ารหัสซึ่งอาจจะถูกดักจับขโมยไปได้นั่นเอง
สุดท้ายนี้ ยังมีอีกหลากหลายกลวิธีกลโกงที่เหล่าผู้ไม่ประสงค์ดีจะสามารถมาหลอกล่อ ล่อลวง ล้วงข้อมูลจากเราไปได้ เช่น การ Phishing ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแล้วส่งอีเมลหรือโทรมาขอข้อมูลส่วนตัวไปอย่างข้อมูลวันเกิด บัตรเครดิต หรือว่าบัตรประชาชน เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะปกป้องตัวเองได้นอกจากเทคโนโลยีแล้ว นั่นก็คือการเพิ่มเติมความรู้ เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราได้ให้มากที่สุด