รายงานใหม่จาก Deloitte คาดการณ์ว่า หลาย ๆ บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะแตะยอดรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ แม้จะเผชิญปัญหาด้านการขาดแคลนชิปและประเด็นเรื่องห่วงโซ่อุปทาน โดยคาดว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวจะสร้างรายได้มากกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 19.8 ล้านล้านบาท) ทั่วโลก ซึ่งอาจเติบโตได้ถึง 10% ในปี 2022 เทียบกับการเติบโต 25% เมื่อปี 2021
มีปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่คาดว่าจะกำหนดทิศทางต่ออุตสาหกรรมนี้ในปีข้างหน้า คือ
- ชิปมีความจำเป็นใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญในหลาย ๆ สิ่ง ตั้งแต่ยานยนต์ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและโรงงาน นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ทั่วไปอย่างคอมพิวเตอร์ ศูนย์ข้อมูล และสมาร์ตโฟน
- ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 ภาวะการขาดแคลนและห่วงโซ่อุปทานจะยังคงเป็นปัญหาอยู่ แต่คาดว่าจะบรรเทาลงในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็อาจยืดเยื้อไปถึงปี 2023 ได้
- การขาดแรงงานที่มีทักษะในอุตสาหกรรมดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ว ๆ นี้ ฐานการผลิตที่มีเพิ่มมากขึ้นในประเทศต่าง ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ อิสราเอล และประเทศอื่น ๆ จะยิ่งต้องการผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้มากขึ้นตามไปด้วย ระหว่างนี้พนักงานจำต้องพัฒนาทักษะและขยายความสามารถทางด้านวิศวกรรมและการผลิตให้มากขึ้น
- Digital transformation ภายในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะยังคงเร่งดำเนินต่อไป โดยบริษัทผู้ผลิตชิปราว 3 ใน 5 ได้เริ่มต้นทำการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลแล้ว แต่มากกว่าครึ่งในกลุ่มนี้กำลังค่อย ๆ ทยอยปรับเปลี่ยนกระบวนการในขณะที่ต้องตั้งรับกับความกดดันต่าง ๆ
โดยรวมแล้ว อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2022 ด้วยการจัดการปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิป บริหารจัดการเวลานำผลิตกับซัพพลายเออร์และลูกค้าปลายทาง เพิ่มกำลังผลิตในท้องที่ใกล้เคียง จ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะทางวิศวกรรมและการออกแบบ และสนับสนุนให้ใช้โซลูชันดิจิทัลขั้นสูงเข้ามาช่วยในการดำเนินการ