เรื่องการถูกแฮ็กเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง โดยเฉพาะกับบัญชี Facebook ที่เราใช้กัน ซึ่งการถูกแฮ็กก็มาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้บัญชีของเราในการส่งข้อความที่เราไม่ได้เป็นคนเขียนเอง หรือการโพสต์ข้อความแปลก ๆ โดยที่ผู้ใช้เองไม่รู้ตัว
เมื่อบัญชี Facebook ถูกแฮ็กก็ย่อมลามไปถึงการล็อกอินเข้าแอปต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น ถ้ามีผู้ไม่หวังดีแฮ็กเข้า Facebook ของเราได้ เขาก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนอื่น ๆ ได้อีก คำถามคือ จะทำอย่างไรต่อไปเมื่อรู้ว่าบัญชี Facebook ของตนเองถูกแฮ็ก? พบคำตอบได้ในบทความนี้
เปลี่ยนพาสเวิร์ดทันที!
ถ้าผู้ใช้งานยังโชคดีสามารถล็อกอินเข้าบัญชี Facebook ของตนเองได้ ควรรีบเปลี่ยนพาสเวิร์ดทันที แต่ถ้าล็อกอินไม่ได้ ให้ส่งคำขอตั้งค่ารหัสผ่านใหม่ โดยไปที่หน้าค้นหาบัญชีของคุณ จากนั้นพิมพ์อีเมล เบอร์โทรศัพท์ ชื่อ-นามสกุล หรือชื่อผู้ใช้ที่เชื่อมต่อกับบัญชีของคุณ แล้วคลิก “ค้นหา” และทำตามขั้นตอนบนหน้าจอ
หากวิธีดังกล่าวยังใช้ไม่ได้ผล อาจเป็นไปได้ว่า มีคนเปลี่ยนอีเมลในบัญชีนั้นแล้ว ให้ใช้อีเมลหรือเบอร์โทรศัพท์สำรองในการเข้าสู่ระบบ
ตรวจสอบให้ดี
สิ่งต่อมาที่ควรทำ คือ รายงานพฤติกรรมแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นไปยัง Facebook เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้กับผู้ใช้งานคนอื่น
จากนั้น ไปที่หน้าตั้งค่าความปลอดภัย และสังเกตดูว่ามีการล็อกอินจากที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ที่คุณรู้จักหรืออุปกรณ์ที่ใช้งานเอง หากพบอุปกรณ์หรือสถานที่อื่น ให้กดปุ่มสามจุดด้านหลัง และเลือก “ไม่ใช่คุณใช่ไหม (not you?)” ซึ่งระบบจะล็อกเอาต์จากอุปกรณ์นั้นและดำเนินการป้องกันบัญชีของคุณต่อไป
หลังจากตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้งานแล้ว ให้เช็คว่า เรารู้จักแอปหรือเว็บไซต์ที่เข้าถึงบัญชี Facebook ทั้งหมด ถ้าไม่รู้จักก็กด “ลบออก (remove)”
ในหน้าการตั้งค่าทั่วไป ตรวจสอบดูว่าอีเมลเป็นของผู้ใช้งานเองทั้งหมดหรือไม่ หากมีอีเมลแปลกปลอมก็กดลบออกทันที
ตั้งค่าความปลอดภัยสูงสุด
หลังจากที่เราแน่ใจแล้วว่า ไม่มีอุปกรณ์ แอป เว็บไซต์ อีเมลแปลกปลอมของแฮ็กเกอร์ในบัญชีเราแล้ว ให้เปลี่ยนพาสเวิร์ดใหม่อีกรอบ เพื่อให้รหัสผ่านมีความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด ควรหลีกเลี่ยงการใช้พาสเวิร์ดซ้ำกับที่อื่น และมีคุณสมบัติ ดังนี้
- รหัสผ่านไม่ควรมีชื่อของคุณ
- รหัสผ่านไม่ควรมีคำทั่วไปจากพจนานุกรม
- รหัสผ่านควรมีตัวเลขอย่างน้อยหนึ่งตัว
- รหัสผ่านควรมีทั้งตัวอักษรตัวใหญ่และตัวเล็ก
- รหัสผ่านควรมีความยาวอย่างน้อย 6 ตัวอักษร
ถ้าเป็นไปได้ก็ลองหา Password Manager มาใช้งานเพื่อจัดการและติดตามพาสเวิร์ดในที่ต่าง ๆ กันลืมก็ได้เช่นกัน
คำแนะนำอีกอย่างคือ เปิดใช้งานการยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (Two-factor Authentication) ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันอีกระดับ กรณีที่พาสเวิร์ดถูกขโมยไป ก็ยังไม่สามารถล็อกอินเข้าใช้งานได้หากไม่เปิดใช้งานคู่กับมือถือหรือแอป Authenticator ของคุณเอง
ท้ายสุดนี้ ควรเปลี่ยนพาสเวิร์ดอีเมลด้วย เพราะอีเมลถือว่าเป็นขุมทรัพย์ของเหล่าแฮ็กเกอร์ยิ่งกว่าบัญชีโซเชียลอีก ดังนั้น ควรเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำทุก ๆ 1 – 3 เดือน เพียงเท่านี้ก็มั่นใจได้ว่าข้อมูลสำคัญของคุณจะไม่หลุดมือไปถึงผู้ไม่ประสงค์ดีได้ง่าย ๆ อีกต่อไป