สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยยังคงพุ่งไม่หยุด ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวสูงขึ้นถึง 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 14 ปี ทำให้สินค้าและบริการในประเทศปรับตัวขึ้นสูงตาม เกิดเสียงบ่นเสียงโอดครวญจากชาวโซเชียล และเรียกร้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือโดยด่วน
บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2565 เพื่อภาพรวมการพูดถึงภาวะเงินเฟ้อบนโซเชียลมีเดีย พบว่ามีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวทั้งสิ้น 11,887,917 เอ็นเกจเมนต์จาก 8,455 แอคเคาท์ เฉลี่ยมีการพูดถึง 202,732 เอ็นเกจเมนต์ต่อวัน ช่องทางที่มีการพูดถึงอันดับ 1 คือ Facebook (53.47%) รองลงมา คือ เว็บไซต์ข่าว (17.22%), Twitter (14.77%) และช่องทางอื่นๆ (14.54%) แบ่งเป็นการพูดถึงจากผู้ชาย (66.6%) มากกว่าผู้หญิง (33.4%) และพูดในคนช่วงอายุ 25-34 ปีมากที่สุด คิดเป็น 50.51%
จากเอ็นเกจเมนต์ที่เกิดขึ้น ไวซ์ไซท์ได้สรุปออกมา 3 ประเด็นที่ชาวโซเชียลพูดถึงมากที่สุด ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ผลกระทบต่อประชาชน (4,071,532 เอ็นเกจเมนต์)
ประเด็นที่ชาวโซเชียลสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดภาวะเงินเฟ้อ ตั้งแต่การที่บางบริษัทปรับขึ้นเงินเดือนเพื่อช่วยลดภาระให้พนักงาน แต่ค่าแรงขั้นต่ำเท่าเดิม, การปรับขึ้นราคาของสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งรวมถึง #ค่าไฟแพง #น้ำมันแพง #อาหารแพง พุ่งขึ้นเป็นประวัติการ, ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง, ตลาดหุ้น กองทุนฯ และคริปโตติดลบ จนไปถึงส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ปรับตัวสูงขึ้น
2. การรับมือเงินเฟ้อด้วยตนเอง (2,976,259 เอ็นเกจเมนต์)
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นนี้ ทำให้ประชาชนเลือกที่จะเก็บเงินสดไว้กับตัว แต่บ้างก็มีการกล่าวถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อหาช่องทางตักตวงเงินเข้ากระเป๋า อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ข้าวของราคาแพง มาม่ายังคงเป็นหนึ่งในอาหารที่ชาวโซเชียลพูดถึงควบคู่ไปกับเงินเฟ้อนั่นเอง
3. นโยบายจัดการเงินเฟ้อ (2,458,094 เอ็นเกจเมนต์)
แม้จะมีการประชาสัมพันธ์วิธีประหยัดเงินในกระเป๋าจากภาครัฐฯ อาทิ การหันมาใช้เตามหาเศรษฐีทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มที่ปรับตัวแพงขึ้น 8% หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ชาวโซเชียลก็ยังมีการถามถึงนโยบายอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยด่วน
นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ชาวโซเชียลยังให้ความสนใจกับต้นตอของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้สายพานการผลิตในหลายประเทศต้องหยุดชะงัก วัตถุดิบจึงมีราคาแพงขึ้น รวมถึง โควิดระลอกใหม่ที่ยังฉุดเศรษฐกิจให้ตกต่ำลง