ในอนาคตอันใกล้นี้ หากเกิดเหตุแผ่นดินไหว แล้วมีผู้ประสบภัยติดอยู่ใต้ซากปรักฟัง หน่วยกู้ภัยที่จะเข้าให้ความช่วยเหลือถึงตัวคุณเป็นคนแรกอาจไม่ใช่คน แต่เป็นฝูงแมลงสาบไซบอร์ก!
การประยุกต์ดังกล่าวเป็นแนวคิดของทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่นจาก Thin-Film Device Laboratory ในบริษัท Riken ซึ่งได้สาธิตการนำอุปกรณ์โซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ไฟฟ้ามาติดบนหลังของแมลงสาบและควบคุมการเดินของมันผ่านอุปกรณ์รีโมตคอนโทรล
Kenjiro Fukuda และทีมวิจัยได้พัฒนาฟิล์มโซลาร์เซลล์ชนิดยืดหยุ่นขนาดความหนา 4 ไมครอน หรือประมาณ 1/25 ของขนาดเส้นผมมนุษย์ ซึ่งสามารถติดอยู่บนหลังของแมลงได้สบาย ๆ ทำให้แมลงสาบสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระในขณะที่โซลาร์เซลล์ก็ผลิตพลังงานเพียงพอสำหรับการทำงานของอุปกรณ์เพื่อส่งสัญญาณบอกทิศทางไปยังอวัยวะรับความรู้สึกที่ส่วนหลังของแมลง
แมลงสาบที่ทีมวิจัยเลือกใช้เป็นสายพันธุ์แมลงสาบมาดากัสการ์ เพราะมีขนาดใหญ่และไม่มีปีก สามารถบรรทุกอุปกรณ์ได้ด้วยการแปะไว้ที่หลังของมัน ซึ่งแมลงก็ยังคงสามารถเดินข้ามสิ่งกีดขวางหรือพลิกตัวกลับมาเองได้อย่างไม่มีปัญหา
สำหรับตัวอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นสามารถถอดออกจากตัวแมลง และให้แมลงสาบกลับไปใช้ชีวิตในห้องแล็ปต่อได้ โดยแมลงสาบพันธุ์นี้โตเต็มวัยเมื่ออายุ 4 เดือน และสามารถมีอายุได้ถึง 5 ปี
งานวิจัยนี้ต่อยอดมาจากการทดลองกับแมลงที่ Nanyang Technological University ในสิงคโปร์ และวันหนึ่งก็อาจจะพัฒนากลายเป็นแมลงหุ่นยนต์ที่สามารถเข้าถึงพื้นที่เสี่ยงได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้หุ่นยนต์
เมื่อเทียบระหว่างการใช้งานหุ่นยนต์กับแมลงแล้ว แบตเตอรีในตัวหุ่นยนต์หมดเร็วกว่า ซึ่งนั่นหมายถึงเวลาที่ใช้ในการสำรวจก็ย่อมสั้นลงไปด้วย ส่วนแมลงนั้นสามารถเคลื่อนที่ด้วยตัวเอง จึงนับว่าประหยัดพลังงานไว้สำหรับการค้นหาได้นานกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ดี หนทางสำหรับการนำนวัตกรรมนี้ไปใช้งานจริงยังอีกยาวไกล เนื่องด้วยการควบคุมทิศทางการเดินของแมลงที่ยังไม่แม่นยำเท่าที่ควร และอุปกรณ์ที่ต้องมีขนาดเล็กกว่าเดิมเพื่อให้แมลงสามารถเคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้นและมีพื้นที่สำหรับติดตั้งเซ็นเซอร์และกล้องติดตัว
ทีมวิจัยมองว่า ฟิล์มโซลาร์เซลล์นี้นอกจากใช้ร่วมกับแมลงกู้ภัยแล้ว ยังสามารถนำไปพัฒนาติดกับเสื้อผ้าหรือผิวหนังเพื่อติดตามสัญญาณชีพได้ด้วยเช่นกัน