“เมืองอัจฉริยะ” สร้างคุณภาพชีวิตให้คนเมือง Thailand Smart City Expo 2022 [Guest Post]

0

“เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City” เป็นหนึ่งในแนวทางที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในทุกเมือง ทุกจังหวัดของประเทศ เพื่อมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

คำว่า “เมืองอัจฉริยะ” ไม่ใช่เพียงเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น แต่หมายถึงความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต  รายได้ ที่อยู่อาศัย สุขภาพ ความปลอดภัยของทุกคนในเมืองนั้น หรือประเทศนั้นต้องดีขึ้นด้วย แนวคิด Smart City เกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี รองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย ปลอดภัยในรูปแบบการบริหารจัดการเมืองที่จะมีการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการจัดสมดุลของสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตของผู้คน ความปลอดภัย ประเทศไทยได้มีการกำหนดพัฒนาพื้นที่เป้าหมายที่คัดเลือกเป็เมืองอัจฉริยะต้นเเบบในแต่ละปี

โดยปี 2561-2562 กำหนดเมืองอัจฉริยะ 10 เมืองใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ต่อมา ปี 2562-2563 มีการกำหนดเป้าหมายเมืองอัจฉริยะเป็น 30 เมืองใน 24 จังหวัด ปี 2563-2564 กำหนดเมืองอัจฉริยะ 60 เมืองใน 30 จังหวัด และปี 2565 เมืองอัจฉริยะ 100 เมืองใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร  ภายใต้ความร่วมมือของ 3 กระทรวง คือ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะขึ้น

ขับเคลื่อนพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ”

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) กล่าวว่า การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) คือ การทำอย่างไรให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นเมืองที่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม 100% แต่หมายถึงคนในพื้นที่นั้นๆ ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพที่ดี มีรายได้ที่ดี มีความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย

“เมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 แต่ในขณะนั้นยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน จนปี 2562 ประเทศสิงคโปร์ได้มีการดำเนินการเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง และได้เห็นโซลูชั่นต่างๆ หลังจากนั้นประเทศก็ได้มาขยายผลเกิดเมืองอัจฉริยะขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการตีความของคำว่าเมืองอัจฉริยะสามารถดำเนินการได้หลากหลาย  จึงได้มีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะขึ้น” ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว

5 หลักเกณฑ์ตั้ง “เมืองอัจฉริยะ” ในไทย

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่าสำหรับหลักเกณฑ์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จะประกอบด้วย 5 เกณฑ์สำคัญ คือ ดังนี้

1.ต้องกำหนดพื้นที่และเป้าหมายชัดเจน ว่าจะขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะในรูปแบบไหน จะเป็นเมืองที่มีนวัตกรรมทั้งหมด 100% หรือจะเป็นเมืองที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม Green หรือจะเป็นเมืองที่เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เป็นต้น
2.ต้องมีแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง จะต้องวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน มีสาธารณูปโภคที่จำเป็น มีระบบ และมีเทคโนโลยีต่างๆ ร่วมด้วย  
3.ต้องมีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองที่ปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่เพียงข้อมูลด้านจำนวนคน จำนวนเศรษฐกิจ แต่เป็นชีวิตของคนในเมือง ต้องเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง  
4.ต้องมีบริการเมืองอัจฉริยะตามลักษณะ 7 ด้าน ได้แก่

  • สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
  • พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
  • เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)  
  • การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living )
  • การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
  • พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) 
  • ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)

5.ต้องมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน คือ ไม่ได้พึ่งพิงงบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้คนภายนอกเข้ามาดำเนินการสนับสนุนได้

เปลี่ยน Mindset ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ

ผศ.ดร.ณัฐพล  กล่าวอีกว่า ในการสร้างเมืองอัจฉริยะนั้น ดีป้าได้แบ่งเมืองเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มเมืองเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมีประมาณ 70 เมืองที่เข้าร่วม และกลุ่มเมืองที่ได้รับการประกาศเขตเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง ประมาณ 30 เมืองใน 23 จังหวัด ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด

โดยการแบ่งเมืองออกเป็น 2 ประเภทนั้น เนื่องจากหากเป็นกลุ่มเมืองเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะแสดงว่าอาจจะยังไม่ได้ดำเนินการครบทั้ง 5 หลักเกณฑ์และกำลังจัดทำแผนงานอยู่ ส่วนกลุ่มที่ประกาศเขตเป็นเมืองอัจฉริยะแล้วนั้น กลุ่มนี้ได้ดำเนินการครบทั้ง 5 หลักเกณฑ์แล้วเพียงแต่ในส่วนของการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะอาจจะไม่ได้ครบทั้ง 7 ด้าน

“อุปสรรคหลักของการสร้างเมืองอัจฉริยะ คือ Mindset แบบเดิมว่าเมืองอัจฉริยะต้องเป็นเรื่องที่ภาครัฐลงทุน ขาดความรู้ความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเมืองอัจฉริยะไม่ได้เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องลงทุนเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ทางดีป้า ได้มีการสร้างคนรุ่นใหม่ และพยายามจะดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเมืองอัจฉริยะ”ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว

โดยมีการสร้างคนรุ่นใหม่ ลงไปทำงานกับคนในพื้นที่ ผ่านโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งรุ่นแรกดำเนินการ Youth Ambassador  หรือนักดิจิทัลพัฒนาเมืองไปแล้ว 30 คน ปีนี้จะเพิ่มเป็น 150 คน  เพื่อช่วยปรับมุมมอง เปลี่ยน Mindset ของคนในพื้นที่ ให้ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ

เพิ่มช่องทางลงทุนเทคโนโลยีให้ภาคเอกชน

ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนนั้น ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวด้วยว่าดีป้าพยายามผลักดันให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะที่ต้องทำให้ภาคเอกชนได้กำไรจากการทำร่วมด้วย เพราะรอการลงทุนจากภาครัฐอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ   

ภาครัฐต้องสร้างระบบการลงทุนที่เหมาะสม โดยภาครัฐอาจต้องสร้างงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อขจัดข้อจำกัดในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ และเพิ่มโอกาส ช่องทางการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม  

“ตอนนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI: Board of Investment) ได้เพิ่มสิทธิแก่ผู้ที่จะนำโซลูชั่นไปใช้ในเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเขตเมืองอัจฉริยะสูงสุดถึง 8 ปี ซึ่งแสดงว่า ประชาชนจะรับการบริการที่ดี  โดยไม่ต้องอาศัยการลงทุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่สามารถหาช่องทางจากเอกชนไปทำงานร่วมกับภาครัฐในพื้นที่ และทางดีป้าได้จัดทำบัญชีบริการดิจิตอล เพื่อให้เอกชนเข้ามาลิสต์รายการที่มีมาตรฐาน เพื่อให้เลือกใช้และผ่านกระบวนการพัสดุได้ง่ายขึ้น” ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว

“เมืองอัจฉริยะ” ต้องแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่าการจะเป็นเมืองอัจฉริยะได้ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้น เมืองอัจฉริยะจะต้องมีการกำหนดแนวทางอย่างชัดเจนว่าจะเป็น GoGreen ได้อย่างไร รวมถึงการแก้ปัญหาด้านมลพิษ ด้านน้ำ รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมทุกด้วย

การดูแลสุขภาพของคนในเมือง ทำอย่างไรให้คนในเมืองเข้าถึงการบริการสาธารณสุข และมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่เมืองอัจฉริยะต้องดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่จะเป็นโจทย์หลักหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับปัญหาหลักของแต่ละเมืองร่วมด้วย ซึ่งแต่ละเมืองก็มีโจทย์หลักและปัญหาหลักที่แตกต่างกัน

โดยในปี 2566 ดีป้าจะมีการสร้างความร่วมมือในส่วนของท้องถิ่น และภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะมากขึ้น และพยายามทำให้เมืองอัจฉริยะมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนกัน เรียนรู้ ช่วยเหลือกัน รวมถึงพยายามหาโซลูชั่นใหม่ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น 5G  หรือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาการเกษตร และอุตสาหกรรมมากขึ้น  

“การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย เป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกคนไม่ว่าจะคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ และคนในอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศจะเป็นการเปลี่ยนแปลง Ecosystem หรือระบบนิเวศของไทย ที่จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะภาคประชาชน ซึ่งเป็นพลัง มิติการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ เพราะถ้าอาศัยเพียงภาครัฐคงไม่สำเร็จ”ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

ลงทะเบียนชมงานได้แล้วที่นี่ https://bit.ly/3M1DZ0z

เปิดเวทีเมืองอัจฉริยะ Thailand Smart City Expo 2022

“Thailand Smart City Expo 2022” เป็นอีกหนึ่งงานของการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย ภายใต้ความร่วมมือของดีป้า  และบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เอ็น.ซี.ซี.) ร่วมจัดงานขึ้น ระหว่าง วันที่ 30 พ.ย.–2 ธ.ค. 65 ณ ฮอลล์ 3-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่าการจัดงานครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และเกิดความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่นำโซลูชั่นมาใช้ กับภาคประชาชน ชุมชนที่ถือเป็นผู้ใช้นวัตกรรม โซลูชั่นและร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งในส่วนของดีป้า จะนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะที่ได้ดำเนินการไป และแผนเป้าหมายต่างๆ

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นรูปแบบไฮบริด มีการจัดแสดงครอบคลุม 7 กลุ่มประเภทสินค้า รวมกว่า 300 บูธ ได้แก่ ระบบจัดการด้านพลังงาน ระบบบ้านและอาคารอัจฉริยะ ระบบโรงงานอุตสาหกรรมและร้านค้าปลีก ระบบด้านสุขภาพและโรงพยาบาล ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบขนส่งและยานยนต์ และระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

โดยภายในงานยังจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ สัมมนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมทุกด้านในการใช้ชีวิต การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ สร้างเครือข่าย แบ่งปันความรู้ จากผู้เชี่ยวชาญในหลายอุตสาหกรรม การจัดแสดงหุ่นยนต์อัจฉริยะ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับ Metaverse กับเทคโนโลยี AR และ 3D Interactive ผ่านแอปพลิเคชัน “Graffity Mappers”

ลงทะเบียนชมงานได้แล้วที่นี่ https://bit.ly/3M1DZ0z