เทคโนโลยีที่ต้องจับตาแห่งปี 2023 สำหรับทุกธุรกิจในภูมิภาค ASEANZK โดย IBM และ IDC

0

เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องติดตามเทรน์เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และกระบวนการทำงานภายในองค์กรได้ทันกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเรื่องความไม่แน่นอน (Uncertainty) ที่เกิดขึ้นมากมาย จนทำให้เกิดวิกฤตขึ้น อันส่งผลกระทบไปกับทุกคนบนโลกนี้เป็นที่เรียบร้อย

บทความนี้ คือเทรนด์จากงานสัมมนา “Top Tech Trends for ASEANZK Businesses in 2023” ที่จัดขึ้นโดยทาง IBM และ IDC โดยผู้บรรยายอันทรงคุณวุฒิทั้งสามท่านอันได้แก่ นางซานดร้า อึ้ง Group Vice President and General Manager ของ IDC APJ Research, นายแดเนียล โซอี้ จิเมเนซ Vice President ของ IDC AP Research และนายพอล เบอร์ตัน ซีอีโอของไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิค ที่ทั้งสามได้มาพูดคุยและชี้ให้เห็นถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่ทุกธุรกิจในภูมิภาค ASEANZK ต้องจับตาในปี 2023 จากมุมมองของ IBM และ IDC ที่เชื่อว่าพลาดไม่ได้เลยทีเดียว

ความเคลื่อนไหวและแนวโน้มสำคัญ

การสัมมนาเริ่มต้นด้วยภาพรวมความเคลื่อนไหวที่ส่งผลต่อธุรกิจ โดยนางซานดร้า อึ้ง Group Vice President and General Manager ของ IDC APJ Research กล่าวว่า “เรากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ อันเป็นผลพวงจากการเร่งเครื่องดิจิทัลทั่วโลก และในภูมิภาคของเรา ในช่วงเวลาสามปี [ที่ผ่านมา] และคุณลักษณะที่กำหนดยุคใหม่นี้คือ ‘Contextualization’ และ ‘Real Time at Scale’ และนี่เป็นสิ่งที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรในการขับเคลื่อนยุคดิจิทัลยุคใหม่นี้”

นางซานดร้าระบุว่า “มากกว่า 60% ของการใช้จ่ายทั้งหมดมาจากเทคโนโลยีที่สนับสนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน หากเราคิดถึงโครงการต่าง ๆ ที่องค์กรชะลอไว้ ก็น่าจะมีเพียงโครงการที่สร้างอิทธิพลในมุมธุรกิจดิจิทัลได้น้อย”

 นางซานดร้า อึ้ง Group Vice President and General Manager ของ IDC APJ Research

ทั้งนี้ นางซานดร้าได้เผยถึงการคาดการณ์ทางธุรกิจ ประกอบด้วย

·   ภายในปี 2569 40% ของรายได้ทั้งหมดขององค์กร A2000 [หรือองค์กรชั้นนำ 2,000 แห่งในเอเชีย] จะมาจากผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ดิจิทัล

·   ภายในปี 2570 80% ขององค์กรจะสามารถระบุมูลค่าของขีดความสามารถ/สินทรัพย์ดิจิทัลของตนได้อย่างถูกต้อง (ข้อมูล อัลกอริธึม และโค้ดซอฟต์แวร์) และจะทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

·   ภายในปี 2567 30% ขององค์กรจะมีกลยุทธ์บริหารภาวะวิกฤติและความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ครอบคลุม Intelligence และช่วยรับมือวิกฤติเศรษฐกิจและดิสรัปชันในอนาคตได้อย่างคล่องตัวว่องไว

·   ในปี 2566 การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขององค์กรในเอเชียแปซิฟิคจะเติบโต 3.5 เท่าของเศรษฐกิจ วางรากฐานสู่การดำเนินการเป็นเลิศ ความแตกต่างทางการแข่งขัน และการเติบโตในระยะยาว

5 เทรนด์สำคัญที่ต้องจับตาในปี 2566

5 เทรนด์สำคัญจากงานสัมมนา “Top Tech Trends for ASEANZK Businesses in 2023” โดยไอบีเอ็ม ร่วมด้วยไอดีซี ผู้ให้บริการชั้นนำด้านการวิจัยและคำแนะนำด้านไอทีระดับโลก 

เทรนด์ที่ 1: Automation อัจฉริยะที่เชื่อมโยงระบบทั่วทั้งองค์กรจะเป็นกุญแจสำคัญของธุรกิจ

วันนี้องค์กรลงทุนมหาศาลในเทคโนโลยี Automaiton แต่โครงการ AI และ Automaiton จำนวนมากกลับไม่ประสบความสำเร็จ โดยนางซานดร้ามองว่าเพราะ “เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำไปใช้แบบไซโลเป็นส่วนใหญ่”

นายแดเนียล โซอี้ จิเมเนซ Vice President ของ IDC AP Research อธิบายว่าองค์กรจำเป็นต้องย้ายตัวเองจากการใช้ RPA และ Automation แบบ Rule-based ซึ่งมักจะถูกใช้เจาะจงเฉพาะกับแต่ละกระบวนการ ไปสู่การผสานความอัจฉริยะทั่วทั้งกระบวนการและภาระงาน ที่ครอบคลุมทีมต่าง ๆ หรือทั่วทั้งองค์กร

นายพอล เบอร์ตัน ซีอีโอของไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิค

นายพอล เบอร์ตัน ซีอีโอของไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิค มองว่า “Automation จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุก็เพราะในแง่ประชากร จะมีคนในตลาดงานน้อยลง คนทำงานน้อยลง และคนที่อยู่ในตลาดงานก็อาจไม่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ automation จะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก”

“เพราะเหตุใดโครงการ Automation ถึงไม่ประสบผล คำตอบคือองค์กรใช้ Automation ในลักษณะไซโลไม่เชื่อมต่อกัน องค์กรต้องมองกว้างขึ้น ต้องเริ่มที่กระบวนการ และวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่หาได้ในวันนี้”

เทรนด์ที่ 2: การเชื่อถือข้อมูลที่มีอยู่และความจำเป็นสูงสุดในการสามารถ Integrate ข้อมูลได้จากทุกแหล่ง

​นางซานดร้ากล่าวว่าเทคโนโลยีเกี่ยวกับ AI, Analytics และ Big Data ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเติบโตถึง 20% เมื่อเทียบปีต่อปี

นายพอลมองว่า “ถ้าองค์กรไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ องค์กรก็จะไปได้ไม่ไกล หากองค์กรไม่มีสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดี ไม่มี data fabric ที่ดี ไม่มีความสามารถในการดึงข้อมูลเพื่ออนุมาน และทำการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ก็เท่ากับองค์กรนั้นไม่ได้เรียนรู้อะไร”

วันนี้ “องค์กรที่ประสบความสำเร็จคือองค์กรที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เร็วที่สุด เรียนรู้และวิวัฒนาการได้เร็วที่สุด และเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการแปลข้อมูล 100% และการเรียนรู้จากข้อมูล ดังนั้นองค์กรไม่ว่าในอุตสาหกรรมใดก็ตามต้องมีสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดี ใช้ Data Fabric เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในทุกแหล่งได้”

ทั้งนี้ นายพอลมองว่าทางเดียวที่องค์กรจะสามารถรับมือกับข้อมูลที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วคือการนำ AI มาใช้ อย่างเช่น Cloud Pak for Data โดยปัจจัยที่องค์กรควรพิจารณาถึง ประกอบด้วย

  • ความน่าเชื่อถือของข้อมูล นางซานดร้าระบุว่า “เมื่อถึงระดับหนึ่ง องค์กรต้องจัดการข้อมูลและ (วิธีการที่องค์กร) เทรนชุดข้อมูล ต้องมั่นใจว่าครอบคลุมสังคมและกลุ่มคนอย่างเหมาะสม” ทั้งนี้ หาก “ข้อมูลที่ API เทรนมีชุดข้อมูลของประชากรเพียงบางกลุ่ม อัลกอริธึมก็จะได้รับการเทรนเฉพาะสิ่งที่แสดงในชุดข้อมูลนั้น”
  • Integration และ Workflow เชื่อมโยงทั่วทั้งองค์กร ซึ่งนางซานดร้าระบุว่า “Data Flow กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ๆ หากองค์กรต้องการ Scale”​ โดยนายพอลอธิบายเพิ่มเติมว่าองค์กรต้องการพื้นฐานทางข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่ถูกต้อง สถาปัตยกรรมที่ใช่ รวมถึง “Data Fabric” ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถอินทิเกรทข้อมูลจากทั่วทั้งองค์กรเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านการดำเนินการได้ โดย Data Fabric คือเครื่องมือที่จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลทั่วทั้งองค์กรได้ผ่าน API เดียวและแหล่งข้อมูลเดียว”

เทรนด์ที่ 3: Cybersecurity ที่ฝังตัวและเชื่อมต่อทั่วทั้ง Ecosystem

นางซานดร้ากล่าวว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา จำนวนออนไลน์และ Mobile Scam เพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ธนาคารต่าง ๆ ได้ลงทุนจำนวนมากในแง่กระบวนการ เทคโนโลยี และคน เพื่อบริหารจัดการ Security และช่วยให้เป็นไปตามกฎของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วทั้งภูมิภาค ยิ่งเมื่อภาครัฐและรัฐบาลเพิ่มการนำออนไลน์และ Mobile มาใช้มากขึ้นในบริการที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ยิ่งเป็นจุดที่อาจเพิ่มโอกาสในการถูกโจมตี โดยในช่วงสามปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพถูกจับตาเป็นอย่างมาก เฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2563 ผลิตภัณฑ์ Healthcare ปลอมซึ่งรวมถึงวัคซีนโควิด สร้างความสูญเสียถึง 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 การสัมมนายังดังกล่าวได้ชูแนวทางที่องค์กรควรให้ความสำคัญในปี 2566 ประกอบด้วย

  • ความจำเป็นในการให้ความรู้เรื่อง Cybersecurity แก่พนักงานทั่วทั้งองค์กร ที่จะต้องเป็นกระบวนการที่องค์กรทำอย่างต่อเนื่อง
  • การประเมินจุดอ่อนหรือช่องโหว่ โดยนายพอลกล่าวว่า “ทางเดียวที่ [องค์กร] จะสามารถรับมือกับ (ภัยคุกคามไซเบอร์ที่เติบโตขึ้นได้) คือการนำ AI หรือ Automation มาใช้” เพื่อช่วยตรวจจับและช่วยให้เข้าใจเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะ “องค์กรไม่สามารถหยุดการโจมตีของอาชญากรได้ แต่สามารถตรวจจับและคาดการณ์ได้ว่าเหตุข้อมูลรั่วหรือการโจมตีจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เมื่อทราบแล้วก็สามารถดำเนินการเพื่อแก้ไข”
  • ระบบ Security ที่เชื่อมต่อกัน: นางซานดร้ากล่าวว่า “เมื่อผนวก Analytics เข้ากับระบบแล้ว (องค์กร) จะมีชั้นแรกของการป้องกัน ต่อจากนั้น (องค์กร) ต้องร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีในการเพิ่มความสามารถที่ตนเองไม่มี”
  • กลยุทธ์ Security Zero trust ช่วยให้องค์กรสามารถเพิ่ม Cyber Resiliency และบริหารความเสี่ยงอันเกิดจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เชื่อมต่อกันได้ ในช่วงต้นปี รัฐบาลสหรัฐได้กำหนดการใช้สถาปัตยกรรม Zero Trust โดยทุกหน่วยงานต้องเป็นไปตามมาตรฐานด้าน Security นี้ภายในปี 2567 แน่นอนว่าระเบียบข้อบังคับที่กำหนดใช้ที่สหรัฐอเมริกาย่อมส่งผลให้องค์กรและเวนเดอร์ต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวไปด้วย

เทรนด์ที่ 4: ความยั่งยืนคือเรื่องที่ทุกองค์กรต้องทำ

นายพอลระบุว่า เทคโนโลยีอย่าง Automation ช่วยให้องค์กรมีความสามารถในการเลือกผลิตเฉพาะสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และเมื่อผลิตน้อยลง ก็ลดการใช้วัตถุดิบ นี่เป็นสิ่งที่จะมีแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งซัพพลายเชน เพราะเมื่อผลิตน้อยลง ก็ใช้พลังงานน้อยลง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง

นายแดเนียลกล่าวว่า Data Center ใช้พลังงานไฟฟ้า 2% ทั่วโลก และก่อให้เกิด Carbon Footprint ทั่วโลก 6-7% เฉพาะในสิงคโปร์ นำสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าราว 7%

กุญแจสำคัญในก้าวต่อไปของความยั่งยืน คือการที่องค์กรสามารถวัด Carbon Footprint จากการดำเนินงานของตนได้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าต้องควบคุมหรือมีมาตรการอย่างไร

นายพอลกล่าวว่า องค์กรไม่มีทางที่จะรู้ว่าตนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงใดหากไม่มีการวัดที่เป็นมาตรฐาน โดยวันนี้ไอบีเอ็มได้นำโซลูชันอย่าง Envizi เข้าช่วยองค์กร Automate การรวมรวมและวิเคราะห์ข้อมูลหลายร้อยประเภท โดยอิงตามเฟรมเวิร์คการรายงาน ESG ตามหลักสากล

“วันนี้องค์กรที่ไม่มีรากฐานข้อมูลที่ดี ไม่มีสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดี ไม่มี Data Fabric และไม่สามารถ Integrate ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์สกอร์การ์ด ESG ของตนได้ ถือว่าองค์กรนั้นเสียเปรียบ”

เทรนด์ที่ 5: พนักงานดิจิทัลและบุคลากรแห่งอนาคต

นายพอลกล่าวว่า “วันนี้บุคลากรมีน้อยลง และเมื่อพิจารณาจากจำนวนที่มีอยู่ คนที่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันยิ่งน้อยลงไปอีก เรื่องนี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา” ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไม Automation จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยเป็นตัวช่วยให้องค์กรสามารถออโตเมทภาระงานซ้ำๆ ได้

ในการสัมมนา ยังได้มีการพูดถึงสิ่งที่ต้องทำสามเรื่อง ประกอบด้วย

  • องค์กรต้องจริงจังกับการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานที่มีอยู่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าใจวัฒนธรรมและกระบวนการต่าง ๆ ในองค์กรอยู่แล้ว
  • Automation จะเป็นตัวช่วยปิดช่องว่างเรื่อง Talent โดยนางซานดร้าระบุว่า “ในปี 2566 Automation จะเป็นแนวทางที่องค์กรเลือกใช้เพื่อผลักดันและก้าวข้าม หรือลดช่องว่างเรื่องทาเลนท์ในองค์กร”
  • พนักงานดิจิทัลและบทบาทของเทคโนโลยีในการสนับสนุนบุคลากร เราจะเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของ ‘พนักงานดิจิทัล’ ที่นำ AI และ Automation มาช่วย Automate ภาระงานซ้ำ ๆ และเป็นที่ปรึกษาที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ

นายพอลมองว่า “เราต้องมองความเป็นจริงในทางบวก ว่า Automation ไม่ได้นำสู่การลดจำนวนงาน แต่เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเสริมขีดความสามารถของมนุษย์ งานในอนาคตจะตกเป็นของคนที่เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ ทำงานร่วมกันในแง่การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ดีขึ้น ปริมาณและการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลกำลังเพิ่มขึ้น ข้อมูลจะเติบโตอย่างรวดเร็วเท่าทวี และคนจะไม่สามารถก้าวทันได้ ทางเดียวที่จะช่วยรับมือข้อมูลได้คือการใช้ AI”

ทิ้งท้ายเรื่องที่องค์กรต้องให้ความสำคัญในปี 2566

นายพอลได้ทิ้งท้ายถึงสามเรื่องสำคัญที่องค์กรต้องให้ความสำคัญในปี 2566

  • การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจ (Business Velocity) ซีอีโอมองถึงการที่ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึงทำให้การดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ทางธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และมีความคลาดเคลื่อนน้อยลง และ Automation คือตัวช่วยหนึ่งเดียวที่จะทำสิ่งนี้ให้เป็นจริง
  • การลดต้นทุน วันนี้มีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้ออย่างรุนแรง การที่มีแรงงานน้อยลงแปลว่าค่าแรงเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงภาวะเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้น และนี่คือสิ่งที่ซีอีโอต้องเผชิญ แนวทางเดียวที่จะช่วยลดปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อ (ตามที่คุณซานดร้าชี้ประเด็นไว้) คือการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย และการใช้ Automation ก็นำสู่การลดต้นทุนได้ด้วยเช่นกัน
  • การยืดหยุ่นฟื้นตัวไว (Resilience) องค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐต้องคิดในภาพใหญ่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทางเทคโนโลยี และไม่จำกัดตัวเองอยู่ในกล่องที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนตามโลกได้ทัน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป