นักวิจัยจาก The University of Toronto กำลังพัฒนาระบบค้นหาตำแหน่งวัตถุโดยใช้เสียงสะท้อนหรือ Echolocation สำหรับหุ่นยนต์ขนาดเล็ก โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากความสามารถของสัตว์อย่างค้างคาวที่พึ่งพาเสียงสะท้อนในการนำทาง
การออกแบบหุ่นยนต์ให้มีความสามารถนำทางหรือระบุวัตถุด้วยเสียงสะท้อนนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดแวร์ราคาแพงหรือชิ้นส่วนขนาดใหญ่หรือหนักเกินไปสำหรับหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งทีมนักวิจัยใช้เพียงฮาร์ดแวร์ระบบเสียงติดตั้งร่วมกับส่วนต่อขยายเสียงโดยใช้ไมค์และลำโพงราคาถูกติดตั้งบนหุ่นยนต์โดรนบินได้ขนาดเล็กจิ๋วขนาดประมาณกำมือเท่านั้น
ระบบทำงานในลักษณะเดียวกับความสามารถของค้าวคาวด้วยการปล่อยคลื่นเสียงออกมา จากนั้นไมโครโฟนบนตัวโดรนก็จะรับการสะท้อนของเสียงที่กระทบกับกำแพงห้อง อัลกอริธึมที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนั้นก็จะวิเคราะห์คลื่นเสียงและสร้างแผนที่มิติของห้องขึ้นมา

วิธีการที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นมาถือว่าอิงตามโมเดล ซึ่งรันได้แบบเรียลไทม์ ไม่ต้องอาศัยการตั้งค่าปรับเทียบ (Calibration) หรือการฝึกฝนแต่อย่างใด โซลูชันนี้จึงช่วยให้หุ่นยนต์ขนาดเล็กสามารถทำภารกิจกู้ภัยตามหาคนหายได้แม้ในพื้นที่ที่ไม่ปรากฏในแผนที่ซึ่งหุ่นยนต์ขนาดใหญ่เข้าถึงไม่ได้ และด้วยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ราคาไม่สูง ก็คาดว่านวัตกรรมนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อีกหลากหลายรูปแบบ
แม้ในระหว่างการทดสอบพบว่า ระบบยังไม่แม่นยำเท่าการใช้งานฮาร์ดแวร์ราคาแพงอย่างเซ็นเซอร์ GPS หรือกล้อง แต่ในอนาคตคาดว่าจะสามารถเพิ่มความแม่นยำมากขึ้นและตัดความจำเป็นในการสร้างเสียงของระบบขึ้นมา