แนะนำ “Pomofocus” เว็บไซต์จับเวลา Pomodoro ฟรี! 

0

ใครที่ชอบทำงานติดโต๊ะ นั่งติดจอเป็นเวลานาน ๆ แล้วอยากจะมีนาฬิกาจับเวลาที่คอยเตือนเราให้ลุกออกจากโต๊ะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม วันนี้ขอแนะนำ “Pomofocus” เว็บไซต์ที่ใช้ช่วยจับเวลาตามเทคนิค Pomodoro (โดยรวมคือโฟกัส 25 นาที พัก 5 นาที) ให้แบบฟรี ๆ หากตั้งใจทำตามเทคนิค Pomodoro แล้ว นอกจากบริหารเวลาให้ Productivity เพิ่มขึ้นแล้ว สุขภาพจะดีขึ้นแน่นอน

ที่มาเทคนิค Pomodoro 

FRANCESCO CIRILLO
Credit : https://francescocirillo.com/

หากใครที่ชอบนั่งทำงานอยู่กับที่นาน ๆ อยากจะแนะนำให้รู้กับกับเทคนิค Pomodoro สักเล็กน้อย โดยเทคนิค Pomodoro นั้นเป็นวิธีการบริหารจัดการเวลาที่พัฒนาขึ้นมาโดยอาจารย์ Francesco Cirillo ตั้งแต่ปี 1980 แล้ว และเนื่องจากคำว่า Pomodoro เป็นภาษาอิตาลีที่แปลว่า “มะเขือเทศ” จึงจะเห็นว่าเทคนิคนี้จะมาคู่กับนาฬิกามะเขือเทศที่ใช้จับเวลาในการทำอาหารในห้องครัวยอดนิยมในอิตาลีที่มีใช้งานกันทั่วไปในห้องครัว

แล้วทำไมถึงเป็นมะเขือเทศ? ดร.โอม ชูศิลป์ ผู้ที่ได้ Pomodoro Licensed Trainer คนแรกและคนเดียวในประเทศไทย ณ ตอนนี้ ได้เล่าว่าที่มาของสิ่งนี้เกิดจากช่วงวัยเด็กของอาจารย์ Francesco Cirillo ที่ตอนใกล้สอบ อาจารย์แทบไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือใด ๆ แล้วบังเอิญเหลือบไปเจอนาฬิกามะเขือเทศในห้องครัวพอดี จึงลองหมุนนาฬิกานี้เพื่อจับเวลาดูสัก 25-30 นาที ซึ่งพบว่าอาจารย์มีสมาธิในการอ่านหนังสือมากขึ้น

อาจารย์ Francesco Cirillo จึงใช้เวลากว่า 10 ปีในการพัฒนาเทคนิคขึ้นมาอย่างเป็นทางการ และหลังจากเริ่มต้นทดลองใช้กับเพื่อน ๆ จนขยายวงไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็กำเนิดเป็น “Pomodoro Technique” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2006 จนปัจจุบันเทคนิค Pomodoro ได้โด่งดังไปทั่วโลกแล้ว ณ วันนี้

ทำ Pomodoro ง่าย ๆ แบ่งเวลา โฟกัส 25 พัก 5 นาที  

หลักการเบื้องต้นของเทคนิค Pomodoro คือ “การแตกงานให้ย่อยลงมาเป็นรอบ ๆ โดยแต่ละรอบคือ 30 นาที” โดยจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ 

  • 25 นาที : โฟกัสในงานที่ต้องการทำตรงหน้าอย่างเต็มที่ โดย ดร.โอม แนะนำว่าควรจะต้องแตก Task ออกมาให้เป็นงานย่อย ๆ ที่สามารถ “ทำเสร็จ” ได้ภายใน 25 นาทีจริง ๆ 
  • 5 นาที : พักให้ไปทำอย่างอื่น เช่น ลุกเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำ กินขนม เพื่อที่จะทำให้ร่างกายสดใสขึ้นและพร้อมที่จะโฟกัสในรอบถัดไป 

โดยแต่ละรอบนั้นจะเรียกว่า “1 Pomodoro หรือว่า 1 มะเขือเทศ” ซึ่ง Task ใหญ่ที่อาจจะใช้เวลามากกว่า 25 นาทีอาจต้องแตกออกมาเป็น Task ย่อย ๆ หรืออาจจะใช้มากกว่า 1 Pomodoro ในการทำให้เสร็จหรือสำเร็จ ซึ่งตรงนี้ อาจจะต้องแล้วแต่วิธีการบริหารจัดการงานของแต่ละคนว่าถนัดรูปแบบใดมากกว่า แต่เทคนิคนี้จะช่วยฝึกการประเมินเวลาที่ต้องใช้ และฝึกการบริหารจัดการเวลาได้ด้วย

Credit : Pomodoro Technique

ทั้งนี้ ขอเน้นว่าการพักนั้นสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นช่วยสำคัญที่ทำให้สมองได้มีการพักจัดระเบียบสักเล็กน้อยหลังโฟกัส และเป็นการทำให้สมองสดใส (Fresh) ขึ้นเพื่อพร้อมโฟกัสใน Pomodoro รอบถัด ๆ ไปได้ด้วยประสิทธิภาพที่ยังคงดีอย่างต่อเนื่องได้มากที่สุด และในทางอ้อมหากลุกออกจากที่นั่งอย่างสม่ำเสมอ ยังช่วยให้ลดการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าไม่พัก 5 นาทีได้ไหม? ทำต่อเลยยาวไป 1 ชั่วโมงได้ไหม? คำตอบที่ได้จาก ดร.โอมคือ “เป็นไปได้”  แต่การทำงานหรือโฟกัสในงานนั้น ๆ จะมีประสิทธิภาพลดลงไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

ถ้าหากใครอยากจะเรียนรู้เทคนิค Pomodoro ในรายละเอียดเชิงลึกมากกว่านี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมเป็นภาษาไทยได้ฟรีที่เว็บไซต์ของ ดร.โอม ชูศิลป์ หรือว่าจะลงทะเบียนเรียน Pomodoro Technique Workshop กับ ดร.โอม แบบ On-Site ได้เลย แต่ละคอร์สรับเพียงแค่ 20 คนเท่านั้น

Pomofocus.io เว็บไซต์จับเวลา Pomodoro ใช้งานฟรี

แน่นอนว่าเทคนิค Pomodoro นั้นสามารถนำไปประยุกต์ (Adapt) ได้ผ่านหลากหลายเครื่องมือมาก ๆ เช่น ใช้นาฬิกาในมือถือจับเวลา Smart Watch ที่จะมีโหมด Pomodoro อยู่แล้ว หรือว่าจะเป็น YouTube ที่มีอยู่มากมาย แต่ถ้าหากอยากจะ Track หรือติดตามสิ่งที่ทำได้ด้วย เว็บไซต์หรือแอป “Pomofocus” คืออีกตัวเลือกที่น่าสนใจและใช้ได้ฟรีด้วย

โดยฟีเจอร์ที่ใช้ได้ฟรีแค่เข้าไปหน้าเว็บไซต์เลยคือ “นาฬิกา Pomodoro” ที่สามารถใช้จับเวลา 25 นาที พร้อมกับกำหนดช่วงพักสั้น (Short Break) หรือช่วงพักยาว (Long Break) ได้ตามเวลาที่กำหนดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถใส่รายละเอียด Task ได้เลยพร้อมโน้ตด้วยว่ามีรายละเอียดอะไรบ้าง 

หากต้องการปรับแต่งเรื่องเวลาในการทำ Pomodoro หรือว่า Break ต่าง ๆ ก็สามารถเข้าไปตั้งค่าที่หน้า Setting ได้ง่าย ๆ เลย ว่าอยากจะปรับเปลี่ยนเวลา Pomodoro, Short Break, Long Break เป็นเท่าไหร่ รวมถึงเสียงเตือน เสียงกด สีสันพื้นหลัง เป็นต้น สามารถปรับแต่งได้เลยที่หน้าจอเดียว ใช้งานง่ายมาก ๆ 

นอกจากนี้ ถ้าหากว่า Login บัญชีแล้ว หน้า Report จะมีรายงานที่สามารถดูได้ด้วยว่าใช้เวลาโฟกัสไปกี่ชั่วโมง ใช้ผ่าน Pomofocus กี่วันแล้ว ทำติดต่อกันกี่วัน มี Task อะไรที่ทำไปบ้าง และใช้เวลาเท่าไหร่ เป็นต้น ซึ่งในเวอร์ชันฟรีนั้นสามารถใช้งาน Pomofocus ได้ตาม Basic Features ตามภาพด้านล่าง

แต่ถ้าหากต้องการฟีเจอร์ที่เหนือกว่าอีกขั้น เช่น Add Project เพื่อแยกแยะว่า Task นั้นอยู่ในโครงการอะไร ดาวน์โหลดรายงานไปใช้ หรือว่าต้องการเชื่อมกับแอป Todoist ที่ใช้งาน ก็จะต้องเสียเงินเพิ่มสักเล็กน้อยเพื่อปลดล็อกใช้งาน Premium Features ซึ่งจะมีฟีเจอร์อื่น ๆ เข้ามาเสริมอีก เช่น รายงานประจำปี ดาวน์โหลดรายงาน หรือว่าสร้าง Template ได้ไม่จำกัด เป็นต้น

บทส่งท้าย

เรื่องสุขภาพร่างกายสำหรับพนักงานออฟฟิศเป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องหมั่นดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่างานจะหนักหรือเบาขนาดไหน โรคออฟฟิศซินโดรมคือภัยคุกคามอีกรูปแบบที่อาจจะทำให้การทำงานในทุกวันอาจไม่มีความสุขได้ง่าย ๆ ซึ่งเทคนิค Pomodoro คือหนึ่งในวิธีการที่นอกจากจะช่วยให้การบริหารจัดการเวลาดีขึ้นแล้ว ยังเป็นอีกตัวช่วยที่จะคอยเตือนให้เราลุกออกจากที่นั่งหรือหน้าจอบ่อย ๆ ซึ่งจะทำให้ห่างไกลโรคออฟฟิศซินโดรมได้ดีขึ้น

และถ้าหากใครมองหานาฬิกาสไตล์เทคนิค Pomodoro เพื่อมาช่วยเตือนให้ลุกจากที่นั่ง ที่ใช้งานได้ฟรีแถมมีรายงานให้ดูด้วย “Pomofocus” คืออีกตัวเลือกที่น่าจะช่วยตอบโจทย์ได้แน่นอน โดยสำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ https://pomofocus.io/ หรือถ้าหากต้องการใช้งานเป็นแอปพลิเคชันบน Windows หรือ macOS เลยก็สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงก์ด้านล่างบนเว็บไซต์ไปติดตั้งได้ และถ้าหากใครอยากจะติดตามอัปเดตจากทาง Pomofocus สามารถตามได้ที่ X ของ Pomofocus ได้เลย

ที่มา: https://pomofocus.io/