เทคโนโลยี Generative AI ที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Google Bard หรือ Microsoft Copilot ล้วนมาจากบริษัทผู้พัฒนาจากฟากอเมริกา แต่เราเคยได้ยินหรือคุ้นเคยกับ GenAI ที่มาจากประเทศในเอเชียบ้างหรือไม่?
ข้อมูลจาก Bloomberg Intelligence เผยว่า ตลาด GenAI ทั่วโลกขยายตัวถึง 42% ต่อปี และคาดว่าจะแตะมูลค่า 1.3 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2032 คิดเป็นการเติบโตถึง 32 เท่า จากปี 2022 ที่มูลค่า 40 พันล้านเหรียญ
จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ในอเมริกาซึ่งมีความพร้อมทั้งทุนและผู้เชี่ยวชาญจะขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาด GenAI และบริษัททั่วโลกก็เลือกใช้ AI จากผู้พัฒนาเหล่านี้
ทว่าในฝั่งเอเชียก็มีแนวโน้มการพัฒนา GenAI ที่กำลังไล่ตามและพยายามลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากบริษัทเทคยักษ์ใหญ่จากอเมริกาด้วยเช่นกัน
เนื่องจากความกังวลเรื่องความเสี่ยงข้อมูลรั่วไหลข้ามประเทศจากการใช้งาน AI จากประเทศอื่น รวมถึงความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลที่อาจจะมีอคติจากข้อมูลที่ไม่ได้มาจากในประเทศจริง จึงนำไปสู่การพัฒนา GenAI เฉพาะใช้งานในประเทศของตนเอง
ลองมาดู VinBigData ในเครือ Vingroup จากประเทศเวียดนาม ที่เริ่มต้นจากการพัฒนา AI ชื่อว่า ViGPT ที่รองรับภาษาและวัฒนธรรมของประเทศ เพื่อผู้ใช้งานชาวเวียดนามโดยเฉพาะ ซึ่งเชื่อว่าเป็น GenAI ที่พัฒนาในเวียดนามและเปิดเป็นสาธารณะเจ้าแรกของประเทศ
เมื่อ GenAI จากฝั่งอเมริกามักอาศัยข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ จึงมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูลภาษาอื่น อย่างภาษาเวียดนาม ดังนั้น ข้อดีของ GenAI ที่พัฒนาภายในประเทศนั้น ๆ คือ ข้อมูลที่ใช้พัฒนาเป็นข้อมูลภาษาภายในประเทศ จึงสามารถสร้าง GenAI ที่มีความแม่นยำทางข้อมูลในประเทศสูงกว่าคู่แข่งจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และกฎหมาย
Vingroup ยังนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าโดยบริษัท VinFast ด้วยเช่นกัน ที่ทำให้สามารถควบคุมคำสั่งของรถด้วยเสียงภาษาเวียดนามได้ และในอนาคตคาดว่าจะผสานรวม AI ในแวดวงการเงิน ประกันภัย และโลจิสติกส์ด้วย
ด้านญี่ปุ่นก็ไม่แพ้กัน หลายบริษัทในญี่ปุ่นต่างพัฒนา GenAI เวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นเองด้วย เช่น NEC บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ ได้ออกบริการที่ใช้ LLM cotomi ส่วน NTT บริษัทโทรคมนาคม ก็ออกบริการที่ใช้ LLM ชื่อว่า tsuzumi ซึ่งทั้งสองโมเดลมีประสิทธิภาพด้านภาษาญี่ปุ่นระดับสูงทั้งคู่
บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ในจีนอย่าง Baidu, Tencent Holdings และ Alibaba Group Holdings ก็พัฒนา GenAI เป็นภาษาจีนด้วยเช่นกัน โดยจากข้อมูลปีที่แล้ว Ernie Bot ของ Baidu ก็มีผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านรายด้วยกัน
เกาหลีก็มีบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่าง Naver ที่เปิดตัว HyperClova X ซึ่งเป็น GenAI ภาษาเกาหลี และใช้ร่วมกับแพลตฟอร์มเครื่องมือค้นหา (Search engine) และแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้งานค้นหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้วยขนาดฐานข้อมูลภาษาเกาหลีใหญ่กว่า ChatGPT ถึง 6,500 เท่า จึงมีข้อได้เปรียบทางภาษาที่ทำให้ AI ที่พัฒนาเองในประเทศรับรู้และเข้าใจภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า
ล่าสุด สิงคโปร์พึ่งประกาศพัฒนา LLM สำหรับภาษาอินโดนีเซีย มาเลย์ และไทย แต่แนวคิดดังกล่าวย่อมเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง เช่น ข้อมูลใช้ฝึกภาษามีไม่เพียงพอ และการสร้างผลประโยชน์จากการพัฒนาโมเดลดังกล่าว
คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า แนวโน้มการใช้งาน GenAI ของฝั่งเอเชียจะเปลี่ยนไปใช้งานโมเดลที่พัฒนาในประเทศมากขึ้นหรือไม่ หรือฝั่งผู้พัฒนาอเมริกาจะสามารถเพิ่มความสามารถรองรับภาษาต่างประเทศ เพื่อให้ข้อมูลแต่ละท้องที่ของแต่ละประเทศได้แม่นยำมากขึ้นอีกได้หรือไม่