ในปัจจุบันที่เทคโนโลยี AI มีความก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ผู้คนเริ่มมีความกังวลกันมากขึ้นถึง Deepfake หรือเทคโนโลยีในการปลอมแปลงบุคคลในภาพหรือสื่อที่แนบเนียนอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน ในบทความนี้เราจะพาไปเจาะลึกว่า Deepfake คืออะไรกันแน่ และก่อให้เกิดความเสี่ยงในชีวิตได้อย่างไรบ้าง
Deepfake = Deep Learning + Fake
การปลอมแปลงตัวตนนั้นเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ แต่เมื่อมนุษย์เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น เช่น ภาพถ่าย ภาพคลื่นไหวหรือวิดีโอ การปลอมแปลงนั้นก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นตาม
หนึ่งในงานวิจัยสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปลอมแปลงตัวตนในสื่อนั้นถูกเผยแพร่ในปี 1997 ซึ่งเป็นระบบที่ปลอมแปลงภาพในวิดีโอให้ขยับปากตามเสียงพูดที่ถูกใส่ขึ้นมาในภายหลัง และหลังจากเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปลอมภาพให้เข้ากับเสียงพูดอื่น ปลอมสีหน้าท่าทาง ก็แนบเนียนขึ้นเรื่อยๆ
Deepfake นั้นเกิดขึ้นจากคำว่า Deep Learning ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงแบบหนึ่งและ Fake ที่แปลว่าปลอม โดยถูกนำมาใช้อธิบายการปลอมตัวตนที่มักจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี AI รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรูปหรือวิดีโอขึ้นมาหรือการดัดแปลงสื่อที่มีอยู่
ทำไม Deepfake จึงอันตราย
เมื่อเทคโนโลยี AI ก้าวหน้าขึ้น หมายความว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีความสามารถในการปลอมแปลงที่แนบเนียนขึ้นและยังจะเนียนขึ้นอีกเรื่อยๆเมื่อ AI พัฒนาต่อไป ส่งผลกระทบให้ภาพถ่ายหรือวิดีโอที่เคยคิดว่าเป็นหลักฐานพิสูจน์ความจริงอันแน่นหนาค่อยๆเสื่อมคุณค่า โดย Deepfake นั้นมีการนำไปใช้ในการทำลายชื่อเสียง กลั่นแกล้ง หลอกหลวง และปลุกปั่นในด้านต่างๆ เช่น
1. สื่ออนาจาร
ความเสี่ยงหนึ่งที่พบเจอกันได้บ่อยในหน้าสื่อคือการใช้ Deepfake ในการสร้างภาพหรืออนาจาร ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่มีบุคคลมีชื่อเสียงอยู่ในนั้น เช่นในกรณีของ Taylor Swift ในช่วงต้นปี 2024 ที่ผ่านมา หรือสื่อที่มีภาพของบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสร้างความเสียหายแก่สุขภาพจิต ชื่อเสียง ชีวิต และทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ Deepfake ในการสร้างสื่ออนาจารที่มีผู้เยาว์อยู่ในนั้นด้วย
2. การปลอมแปลงตัวตนเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน
สำหรับคนไทยคงคุ้นเคยกันดีกับประเด็นของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่พยายามปลอมเป็นบุคคลใกล้ชิดเพื่อหลอกให้โอนเงิน ทั่วโลกก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน โดย Deepfake นั้นสามารถเรียนรู้จากคลิปเสียงสั้นๆแล้วปลอมเสียงเป็นบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางการเงินขององค์กรและหลอกให้ทำธุรกรรม อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้สไตล์การพูดและพิมพ์จากแชทและเขียนอีเมลล์หรือแชทหาบุคคลใกล้ชิดให้ทำธุรกรรมในทำนองเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ถูกปลอมเสียงหรือภาพเพื่อใช้ในการโฆษณาหรือชักจูงให้ซื้อสินค้า มอบข้อมูลส่วนตัว หรือลงทุนโดยที่เจ้าตัวนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
3. ปลอมสื่อของบุคคลสำคัญหรือนักการเมืองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จและข่าวลวง บางครั้ง Deepfake ก็ถูกนำมาใช้เพื่อปลอมภาพ วิดีโอ หรือเสียงพูดเพื่อแผ่อิทธิพลทางความคิด เพิ่มความน่าเชื่อถือ ผลักดันให้คนคล้อยตาม หรือทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการเมือง โดยสิ่งที่ Deepfake สร้างขึ้นมานั้นอาจเป็นเพียงข่าวลวงที่สร้างอคติหรือความเสียหายที่จำกัด ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Deepfake มีศักยภาพในการสร้างความเสียหายในระดับความมั่นคงของประเทศ
เทคโนโลยีมีประโยชน์ แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยง
Deepfake นั้นก็เหมือนกับเทคโนโลยีอื่นๆทั่วไปที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพยนตร์ สื่อ หรือพัฒนาเกมให้มีความสมจริง ทว่าความสามารถนั้นมาพร้อมกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ ในปัจจุบันรัฐบาลทั่วโลกเริ่มมีความตื่นตัวกันมากขึ้นที่จะกำกับดูแลการใช้งาน รวมไปถึงผู้พัฒนาที่มีการตรวจสอบ วางกลไกด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
การปลอมแปลงสื่อบุคคลจริงในปัจจุบันนั้นอาจไม่ร้ายแรงมากนักเพราะสามารถดูออกได้ง่าย แต่หากเทียบกับในอดีตแล้วการปลอมแปลงเหล่านี้แนบเนียนมากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าวันหนึ่งมันแนบเนียนจนดูออกได้ยากก็จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการตัดสินใจ การรับข่าวสาร และอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายและเสียหายในสังคม
อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Deepfake
Cover Photo: Darius Bashar