จีนนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลกับแหล่งพลังงานสะอาดเช่นพลังงานลมและแสงอาทิตย์ และในรายงานจาก International Atomic Energy Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ได้เผยว่าในรอบทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้สร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขึ้นกว่า 37 แห่ง รวมเป็น 55 แห่งทั้งหมด ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำและมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โดยรวม 93 แห่งนั้นในช่วงเวลาเดียวกันสร้างเพิ่มเพียง 2 แห่งเท่านั้น
ด้วยความต้องการใช้พลังงานในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จีนตั้งเป้าหมายในการติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ 6-8 แห่งต่อปี โดยนับว่าเป็นเป้าหมายที่ยังต่ำอยู่ในความคิดของผู้เกี่ยวข้องบางราย คณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีนอนุมัติการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ 10 แห่งในปี 2022 และในปัจจุบัน มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างถึง 22 แห่ง
ในประเทศโลกตะวันตก การก่อสร้างและดำเนินการด้านพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ได้มีความคืบหน้ามากนัก เหตุเพราะการก่อสร้างแต่ละครั้งนั้นต้องใช้งบประมาณลงทุนที่สูงในขั้นแรกและกินระยะเวลาที่ยาวนาน รวมถึงสถานะของอุตสาหกรรมที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจึงต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจำนวนมากในการก่อสร้าง
กลยุทธ์ที่รัฐบาลจีนใช้งาน คือการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับบริษัทพลังงานที่เป็นของรัฐและการจัดหาที่ดินและตั้ง License ในการดำเนินธุรกิจในราคาถูก และบริษัทที่ให้บริการพลังงานนิวเคลียร์จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ กลยุทธ์ทั้งหมดนี้ทำให้ราคาพลังงานนิวเคลียร์ในจีนนั้นถูกลง อยู่ที่ราคาประเมิน 70 เหรียญสหรัฐต่อเมกะวัตต์ ในขณะที่ในสหรัฐนั้นอยู่ที่ 105 เหรียญ และยุโรปที่ 160 เหรียญ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนก็ไม่ได้เพิกเฉยกับประเด็นความปลอดภัยที่เป็นความกังวลอันดับหนึ่งเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ โดยได้ห้ามตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่ห่างจากชายฝั่งซึ่งต้องใช้น้ำจากแม่น้ำในการทำความเย็น เหตุโศกนาฏกรรมที่โรงไฟฟ้า Fukushima Dai-ichi ในปี 2011 นั้นทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปช่วงหนึ่ง และเมื่อญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียที่ถูกบำบัดและปลอดภัยลงในมหาสมุทร ทางการจีนได้แสดงออกถึงความไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมีแนวคิดเกี่ยวกับความปลอดภัยมิใช่มุ่งมั่นแต่การเพิ่มแหล่งพลังงานนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียว
ที่มา: China is building nuclear reactors faster than any other country