คุณรู้สึกไหมว่าธุรกิจของคุณหยุดนิ่ง ไม่ก้าวหน้า หรือรู้สึกว่าคู่แข่งของคุณดูจะเหนือกว่าเสมอ?
หากคุณกำลังมองหาเข็มทิศนำทางธุรกิจ ลองหันกลับมาทบทวนและเข้าใจธุรกิจของคุณให้ถ่องแท้ ด้วย SWOT Analysis เครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจที่จะนำทางคุณไปสู่การค้นพบจุดแข็งที่ซ่อนอยู่ ระบุจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ และรับมือกับอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
มารู้จัก SWOT Analysis สู่การปลดล็อกศักยภาพของธุรกิจคุณในบทความนี้ค่ะ
SWOT Analysis คืออะไร?
SWOT Analysis คือเฟรมเวิร์กที่ใช้ประเมินศักยภาพและปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของธุรกิจ เพื่อนำไปวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่ง SWOT ย่อมาจาก
- S – Strengths จุดแข็ง
- W – Weaknesses จุดอ่อน
- O – Opportunities โอกาส
- T – Threats อุปสรรค
การวิเคราะห์ SWOT ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้มองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน ขององค์กร หรือสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมนั้น ๆ อย่างชัดเจน โดยอาศัยข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ความคิดเห็นหรือการคาดเดา การวิเคราะห์นี้จะแม่นยำเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์จริง เปรียบเหมือนเป็นเข็มทิศให้กับบริษัท
SWOT Analysis มีอะไรบ้าง
S – Strengths จุดแข็ง
Strengths (จุดแข็ง) คือ สิ่งที่องค์กรทำได้ดีกว่าคู่แข่ง เป็นจุดเด่นที่ทำให้ธุรกิจของคุณโดดเด่นขึ้นมา เช่น ตัวสินค้าผลิตภัณฑ์หรือบริการเอง คุณภาพสินค้า คุณสมบัติเด่น ราคา คุณค่าของสินค้า การเจาะตลาด การกระจายสินค้าทั่วถึง ชื่อเสียงของแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ฐานลูกค้าประจำที่เหนียวแน่น ฐานะทางการเงินที่มั่นคง เทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมองค์กร รวมไปถึงทักษะพนักงานด้วย เป็นต้น
W – Weaknesses จุดอ่อน
Weaknesses (จุดอ่อน) คือ สิ่งที่ฉุดรั้งไม่ให้องค์กรทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนสนามที่องค์กรจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เช่น ภาพลักษณ์แบรนด์ที่ไม่แข็งแรง อัตราการลาออกของพนักงานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ภาระหนี้สินที่มากเกินไป ระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ไม่เพียงพอ หรือเงินทุนไม่เพียงพอ
O – Opportunities โอกาส
Opportunities (โอกาส) คือ ปัจจัยภายนอกที่เอื้ออำนวย ซึ่งจะช่วยให้องค์กรได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น หากภาครัฐบาลลดภาษีนำเข้า ผู้ผลิตรถยนต์ก็สามารถส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดใหม่ ส่งผลให้ยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น
T – Threats อุปสรรค
Threats (อุปสรรค) คือ ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อองค์กร เช่น ภัยแล้งเป็นอุปสรรคสำหรับบริษัทผลิตข้าวสาร เพราะภัยแล้งอาจทำให้ผลผลิตเสียหายหรือลดลง หรือราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น คู่แข่งที่มากขึ้น ตลาดแรงงานที่ตึงตัว กฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป เป็นต้น
สรุป
การวิเคราะห์ SWOT ถูกนำมาใช้เพื่อระบุกลยุทธ์ในการปรับปรุงบริษัท หรือเพื่อค้นหาจุดแข็งที่ทำให้บริษัทเหนือกว่าคู่แข่ง นอกเหนือจากการวิเคราะห์สิ่งที่บริษัททำได้ดีแล้ว การวิเคราะห์ SWOT ยังช่วยวิเคราะห์จุดอ่อนของธุรกิจด้วย
เมื่อวิเคราะห์ SWOT แล้ว บริษัทสามารถวางแผนกลยุทธ์โดยรวมได้ดียิ่งขึ้นเพื่อรักษาสิ่งที่บริษัททำได้ดี เสริมสร้างจุดแข็ง ลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับจุดอ่อน และวางแผนสำหรับเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจนำแผนดังกล่าวไปใช้จริงต่อไป
แม้ว่าการวิเคราะห์ SWOT จะเป็นเครื่องมือวางแผนที่มีประโยชน์ แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เพราะ SWOT เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ เทคนิคการวางแผนธุรกิจที่ควรพิจารณา และไม่ควรใช้เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ควรวิเคราะห์เชิงลึกด้วยเทคนิคการวางแผนอื่น ๆ ควบคู่กับการวิเคราะห์ SWOT ด้วย
ที่มา:
- Hague, P. (2023). The Business Models Handbook, The Tools, Techniques and Frameworks Every Business Professional Needs to Succeed (2nd ed.). Kogan Page Limited.
- SWOT Analysis: How To With Table and Example, Investopedia