Mendix คืออะไร ?

0

Mendix คือบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ผู้ให้บริการ “แพลตฟอร์ม Mendix” ที่สนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบ Low-Code ระดับองค์กร พร้อมระบบ AI ที่สนับสนุนให้ประสบการณ์สำหรับนักพัฒนาระบบไหลลื่นมากยิ่งขึ้น

โดยบริษัท Mendix ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2005 ซึ่งเริ่มต้นจากการเห็นปัญหาในการพัฒนาระบบว่าไม่ใช่เรื่องของการเขียนโค้ด แต่เป็นเรื่อง “ปัญหาในการสื่อสาร” ที่นักพัฒนาระบบมักจะไม่เข้าใจในเชิงธุรกิจ และผู้ใช้ในเชิงธุรกิจ (Business User) ก็ไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนา ด้วยเหตุนี้เอง บริษัท Mendix จึงกำเนิดขึ้นโดยผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนและขยายเป็น 16 คนในปี 2007 

จนกระทั่งปี 2018 Siemens ได้ซื้อกิจการไปด้วยมูลค่า 6 แสนล้านยูโร (ราว ๆ 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จึงทำให้ Mendix เติบโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด และทำให้กลายเป็นผู้นำทางด้านแพลตฟอร์มการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบ Low Code ระดับองค์กรที่จัดลำดับโดย Gartner ในสิงหาคม 2023 เป็นที่เรียบร้อย 

ภายใต้แพลตฟอร์ม Mendix มีเครื่องมือสนับสนุนให้นักพัฒนาระบบสามารถสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายกว่าที่ผ่านมา อาทิ 

  • Mendix Studio Pro IDE คือเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาระบบที่สนับสนุนการพัฒนาแบบ Low-Code ด้วยการลากวาง (Drag-and-drop) พร้อมกับฟังก์ชันการทำงานอัตโนมัติสำหรับงานที่ต้องทำประจำทุกวัน พร้อม AI อย่าง MxAssist ที่มาร่วมสนับสนุนการพัฒนาได้
  • Mendix AI Assistance (Maia) ภายใต้ Mendix 10.12 ที่มีขีดความสามารถของ Generative AI ที่จะช่วยให้แนะนำหรือช่วยให้การสร้าง Workflow เป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
  • Mendix Cloud บริการ Public Cloud ที่ให้บริการโดย Mendix บน AWS ที่ทำให้การส่งมอบแอปพลิเคชันแบบ Low-Code เป็นไปได้อย่างเร็วที่สุด
  • Mendix for Private Cloudบริการ Mendix สำหรับการใช้งานบน Private Cloud สำหรับองค์กร โดยอิงกับสถาปัตยกรรม Kubernetes ที่จะทำให้สามารถควบคุมและจัดการข้อมูลแบบส่วนตัว ใช้งานได้ทั้งบน AWS, Google Cloud, Azure หรือ Red Hat OpenShift

ปัจจุบัน Mendix จึงเป็นแพลตฟอร์มที่มีลูกค้าองค์กรเลือกใช้งานอยู่ทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งมีพาร์ตเนอร์หลายร้อยเจ้าที่มาร่วมสนับสนุนในแพลตฟอร์มแล้ววันนี้ เพื่อให้นักพัฒนาระบบสามารถสร้างสรรค์แอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ความต้องการของ Business User ได้อย่างยืดหยุ่น ผ่านเครื่องมือพัฒนาที่ใช้งานได้ง่ายแบบ “ลากวาง (Drag-And-Drop)” โดยใช้ทักษะในการเขียนโค้ดที่น้อยมากหรือไม่จำเป็นเลย ก็ว่าได้ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้บนเว็บไซต์ Mendix

ที่มา: https://www.mendix.com/