งานวิจัยจาก University of Illinois ชี้ การใช้การ์ตูนในการส่งสารให้ความรู้หรือโน้มน้าวผู้คนมีแนวโน้มที่จะได้ผลดีกว่าการใช้ภาพถ่าย
Lulu Rodriguez และ Xiao Lin ทำการศึกษาผลกระทบจากภาพที่มีต่อการรับสารในผู้อ่าน ผ่านการทดลองแจกโบรชัวร์ต่อต้านความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับพลังงานลม 2 ชิ้นที่มีดีไซน์ ข้อความ สี และขนาดเท่าๆกัน แต่ชิ้นหนึ่งมีภาพประกอบเป็นการ์ตูน ในขณะที่อีกชิ้นหนึ่งมีภาพประกอบเป็นภาพถ่ายกังลมที่ถูกถ่ายโดยมืออาชีพ
เป็นที่น่าสนใจว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่าเนื้อหาในแผ่นพับที่ประกอบไปด้วยรูปการ์ตูนมีเนื้อหาที่ดีกว่า ถึงแม้ข้อความเนื้อหาในทั้ง 2 แผ่นพับนั้นจะเหมือนกันทุกประการ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้แสดงความคิดเห็นว่ามีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าแผ่นพับที่ใช้รูปถ่าย

“คุณต้องใช้เวลานานกว่ากับการ์ตูนเพื่อที่จะค้นหาความหมายที่แท้จริงของภาพวาดและสถานการณ์[ในการ์ตูน]” Rodriguez กล่าว “คนจะใช้เวลามองการ์ตูนนานกว่า ดังนั้นจึงมีการรับรู้ที่มากกว่ากับการ์ตูน โดยทั่วไปแล้วการ์ตูนมักจะมีการตบมุกในตอนท้าย และคนก็มักจะพยายามที่จะทำความเข้าใจกับมุก รูปที่ใช้แสดงภาพพลังงานลมในโบรชัวร์อีกชิ้นนั้นก็สวยงามไม่แพ้กัน เป็นภาพวิวกังหันลมท่ามกลางทัศนียภาพที่สวยงาม แต่คนไม่ได้มองไปที่มันนานเท่ากับรูปการ์ตูน”
อีกหนึ่งคำอธิบายที่เป็นไปได้คือภาพลักษณ์ที่จริงจังน้อยกว่าของการ์ตูน Rodriguez กล่าวว่าการ์ตูนช่วยให้เรื่องราวที่อาจดูน่ากลัวสำหรับคนทั่วไป เช่นพลังงานลม กลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ แต่เรื่องความน่าเชื่อถือที่ลดลงนั้นก็เป็นประเด็นเช่นกัน สารที่แลดูยากกว่าแม้จะเข้าถึงได้ยาก แต่ผู้คนกลับไว้เนื้อเชื่อใจมันมากกว่า
ในขณะเดียว การใช้การ์ตูนในการอธิบายเนื้อหาวิทยาศาสตร์ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลดีในชั้นเรียนวิชาเคมีระดับมัธยมปลาย แต่งานวิจัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาการส่งสารของภาพการ์ตูนในสถานการณ์นอกห้องเรียน ในการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องการโน้มน้ามให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดเห็น ความตั้งใจ และพฤติกรรม
อย่างไรก็ตามทางนักวิจัยก็ยอมรับว่าการสร้างสรรค์ภาพการ์ตูนเพื่อส่งสารนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องการศิลปินที่มีทักษะสูง อีกทั้งการอธิบายเรื่องยากๆอย่างง่ายๆนั้นก็ยากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแม้การใช้การ์ตูนจะส่งสารโน้มน้าวใจได้ดีกว่า เอเจนซี่โฆษณาก็อาจจะยังเลือกใช้ภาพถ่ายต่อไป โดยเฉพาะหากมันหมายถึงความน่าเชื่อถือที่มากกว่าด้วย
อ้างอิง: https://www.sciencedaily.com/releases/2017/05/170511120025.htm