กสิกรไทยเผยโฉมแอพพลิเคชัน Blockchain ตัวแรก กับบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับความร่วมมือในการพัฒนาจาก IBM, การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บมจ. PTTCG, และ บจก. PTTPM ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับหนังสือคำ้ประกันเป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย
เมื่อ FinTech ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในแวดวงการเงินและการธนาคารขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เพื่อตอบรับกับความต้องการของเทคโนโลยี ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้จัดตั้งโครงการส่งเสริม ให้คำปรึกษา รวมไปถึงให้บริการ Regulatory Sandbox เป็นพื้นที่ทดลองและเฝ้าระวังสำหรับแอพพลิเคชันด้าน FinTech และแอพพลิเคชันแรกที่คลอดออกมาจากโครงการนี้ ก็คือบริการหนังสือค้ำประกันบน blockchain จากกสิกรไทยนี้เอง
บริการหนังสือค้ำประกันบน blockchain ที่ว่านี้ทำงานผ่านเทคโนโลยี Hyperledger Fabric ของ IBM ซึ่งเป็นโครงสร้าง blockchain แบบส่วนตัวที่เปิดให้ใช้งานเฉพาะผู้ที่ได้รับการอนุญาตเท่านั้น
การใช้ blockchain เป็นโครงสร้างในการเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือค้ำประกัน นอกจากจะทำให้ขั้นตอนการขอและตรวจสอบหนังสือค้ำประกันเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าเดิมมากแล้ว ธรรมชาติของเทคโนโลยี blockchain ยังจะช่วยให้หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านเข้ามาในระบบทั้งหมดมีความปลอดภัยสูง ตรวจสอบได้ง่าย และปลอมแปลงได้ยาก ซึ่งส่งผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
แน่นอนว่าหากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ใช้ บริการดังกล่าวจะต้องมีข้อมูลที่มากกว่าหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น ซึ่งทางกสิกรไทยก็ยินดีเปิดให้ธนาคารอื่นๆมาเข้าร่วมใช้ระบบ private blockchain นี้ผ่าน Application Programming Interface (API) OriginCert ซึ่งจะทำหน้าที่ดำเนินการ smart contract โดยอัตโนมัติ จึงอาจกล่าวได้ว่า บริการหนังสือค้ำประกันนี้อาจขยายตัวกลายเป็นแพลตฟอร์มหนังสือค้ำประกันที่รวมข้อมูลจากเครือข่ายธนาคารต่างๆได้ในอนาคต
อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่าเพราะเหตุใดหนังสือค้ำประกันถึงถูกเลือกขึ้นมาจัดการเป็นแอพพลิเคชันก่อนใครเพื่อน ประการแรกนั้นเป็นเพราะว่าระบบของหนังสือค้ำประกันนั้นมีผู้เกี่ยวข้อง (party) จำนวนไม่มาก ได้แก่ ผู้ขอหนังสือค้ำประกัน ผู้ออกหนังสือค้ำประกัน และผู้รับหนังสือค้ำประกันเท่านั้น จึงทำให้เหมาะสมกับการนำมาทดลองกับเทคโนโลยี blockchain ที่ยังใหม่อยู่
และประการที่สอง คืออุปสรรคที่พบเจอบ่อยในหน่วยงานที่ต้องใช้หนังสือค้ำประกันจำนวนมาก เช่นการไฟฟ้าทั้งสองส่วนที่ต้องใช้หนังสือค้ำประกันทุกครั้งที่มีผู้ร้องขอใช้ไฟฟ้า ที่นอกจากจะต้องเสียเวลากับการรอออกหนังสือค้ำประกันราว 24 ชั่วโมงแล้ว ยังต้องปวดหัวกับการจัดการกับเอกสารจำนวนมหาศาล ทั้งการจัดเก็บ การค้นหาข้อมูล และการตรวจสอบการปลอมแปลงหรือวันหมดอายุ ซึ่งหากเปลี่ยนมาใช้ระบบบน blockchain จะสามารถย่นระยะการออกเอกสารจาก 24 ชั่วโมงเหลือเพียง 30 นาที และข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งสามารถค้นหาและตรวจสอบได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
ในปีนี้ คาดว่าประเทศไทยจะมีการออกหนังสือค้ำประกันผ่านธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมสูงถึง 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากปีที่ผ่านมาราวร้อยละ 8 คิดเป็นการใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ร้อยละ 20 และกสิกรไทยมีเป้าหมายให้ตัวเลขนี้เติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 35 ภายในสิ้นปีหน้า โดยมีสัดส่วนเป็นระบบที่อยู่บน blockchain ที่ 5%
การพัฒนาระบบหนังสือค้ำประกันบน blockchain นี้นอกจากจะเป็นการเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาสู่ระบบการธนาคารแล้ว ยังอาจกลายมาเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจของแอพพลิเคชันอีกมากมาย เช่น ระบบการยืนยันตัวตน (e-KYC) ระบบการจ่ายภาษี ระบบการส่งของ และระบบอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยนำเราไปสู่ยุคของเอกสารแบบปราศจากกระดาษ (paperless) อีกด้วย
และการได้เห็นเทคโนโลยีจากหน้าข่าวกำลังจะกลายเป็นระบบที่เราสามารถใช้งานจริงในประเทศไทยของเราได้แบบนี้ นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยทีเดียว