ศีลธรรมกับหุ่นยนต์ – เมื่อนักวิจัยสร้างโมเดลศีลธรรมให้รถยนต์ไร้คนขับสำเร็จ แต่จะนำไปใช้ดีไหม?

0

ความเชื่อที่มีมานานว่าการตัดสินใจทางศีลธรรมนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถสร้างโมเดลหรืออัลกอริทึมขึ้นมาอธิบายได้นั้นกำลังจะถูกทำลายลงด้วยงานวิจัยชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัย Osnabrück ประเทศเยอรมนี ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโมเดลที่อธิบายการตัดสินใจทางศีลธรรมของมนุษย์ต่ออุบัติเหตุในท้องถนนอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันกำลังจะนำเราไปสู่บทสนทนาสำคัญเรื่องศีลธรรมในหุ่นยนต์ที่มนุษยชาติต้องตัดสินใจในไม่ช้า

ทีมวิจัยจาก Institute of Cognitive Science ของมหาวิทยาลัย Osnabrück ได้ทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมและการตัดสินใจทางศีลธรรมขณะขับรถของมนุษย์ผ่านการทดลอง โดยผู้เข้าร่วมงานวิจัยจะถูกร้องขอให้ขับรถในพื้นที่ชานเมืองผ่าน Virtual Reality ที่ซึ่งต่อมาผู้เข้าร่วมจะได้เผชิญกับสถาการณ์ที่เป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) ที่บังคับให้ผู้เข้าร่วมต้องตัดสินใจพุ่งเข้าชน คน สัตว์ หรือสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นไปของสถานการณ์

จากข้อมูลที่ได้จากการทดลองนี้ นักวิจัยสามารถพัฒนาโมเดลที่อธิบายและจำลองการตัดสินใจของมนุษย์ในการเลือกที่จะชนสิ่งใดสิ่งหนึ่งและรักษาอีกสิ่งหนึ่งได้เป็นที่สำเร็จด้วยการใช้คุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการวัดปริมาณผลตอบแทนที่ได้รับจากการหลีกเลี่ยงความตายที่เรียกว่าค่า value of life เป็นตัวตั้งต้นของโมเดล

เมื่อการตัดสินใจทางศีลธรรมในครั้งนี้สามารถอธิบายออกมาเป็นอัลกอริทึมได้แล้ว ย่อมหมายความว่าผู้ผลิตรถยนต์ไร้คนขับสามารถนำมันไปใช้ในซอฟต์แวร์ของรถยนต์ไร้คนขับได้ ทว่าเรื่องราวอาจไม่ง่ายดายและมีประเด็นที่มนุษย์ยังต้องขบคิดอีกเป็นจำนวนมาก ดังที่ศาสตราจารย์ Gordon Pipa หนึ่งในทีมงานวิจัยนี้กล่าวไว้อย่างได้ใจความว่า “เราต้องถามก่อนว่าระบบอัตโนมัติทั้งหลายนี้ควรใช้การตัดสินใจด้วยศีลธรรมไหม ถ้าใช่ พวกมันควรแสดงพฤติกรรมทางศีลธรรมด้วยการเลียนแบบการตัดสินใจของมนุษย์หรือเปล่า หรือพวกมันควรมีพฤติกรรมตามทฤษฎีจริยศาสตร์ และถ้าเป็นเช่นนั้น จะยึดทฤษฎีไหน และที่สำคัญที่สุด ถ้าเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้นมา ความผิดนั้นเป็นของใคร หรืออะไรกันแน่?”

ศีลธรรมและจริยธรรมนั้นเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงเรื่อยมาในประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัย ผลลัพธ์ของการถกเถียงและขบคิดที่ยาวนานนั้นก็คือทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติที่หลากหลายจนยากที่จะสรุปออกมาเป็นหลักสากล ตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกรณีรถยนต์ไร้คนขับนี้คือการอ้างอิงคู่มือจริยธรรมของเยอรมนีที่ระบุว่าเด็กที่วิ่งลงมาบนถนนนั้นมีส่วนในการสร้างความเสี่ยงอย่างมาก ดังนั้นจึงสมควรถูกช่วยชีวิตน้อยกว่าผู้ใหญ่ที่เดินอยู่บนทางเท้าที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่การตัดสินเช่นนี้ตรงตามคุณค่าศีลธรรมของคนส่วนมากหรือไม่ และควรมีผลมากน้อยเพียงใดหากนำมาใช้กับรถยนต์ไร้คนขับ

ประเด็นเรื่องศีลธรรมและหุ่นยนต์นี้เป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องคิดหาคำตอบให้ได้ชัดเจนก่อนที่จะก้าวไปสู่ยุคที่หุ่นยนต์จะปรากฏตัวอยู่ทุกที่ ทั้งบนท้องถนน ในโรงงาน หรือในโรงพยาบาล เพราะในอนาคต การตัดสินใจของหุ่นยนต์ทั้งหลายจะเข้ามาพัวพันกับชีวิตและทรัพย์สินของเราจนอาจแยกออกจากกันไม่ได้เลยทีเดียว