Derek Burk นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Northwestern ของสหรัฐอเมริกาพยายามตอบคำถามไก่กับไข่ที่เป็นที่ถกเถียงในการสร้างวัฒนธรรมการใช้จักรยาน
วัฒนธรรมการใช้จักรยานในการสัญจรนั้นเกิดจากคนใช้จักรยานที่มีจำนวนมาทำให้ต้องมีการสร้างเลนจักรยาน หรือจากการสร้างเลนจักรยานที่ทำให้ผู้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้นกันแน่? การปะทะกันระหว่างสองมุมมองนี้มักเป็นใจกลางหลักของการถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมการใช้จักรยานที่มีอยู่ทั่วไปไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย งานวิจัย “Infrastructure, Social Practice, and Environmentalism: The Case of Bicycle-Commuting” ของ Derek Burk พยายามไขปริศนานี้ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลระยะยาว
Burk ทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค fixed-effects regression โดยใช้ข้อมูลการใช้จักรยานใน 62 เมืองทั่วสหรัฐฯในช่วงปี 2000 ถึง 2014 รวมกับข้อมูลเส้นทางจักรยานในแต่ละเมือง เพื่อสืบค้นความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างสองสิ่งนี้ และความจริงที่เขาได้พบคือ สมมติฐานทั้งสองข้อนั้นเป็นจริงทั้งคู่ ซึ่งแปลว่าการสร้างเลนจักรยานนั้นจูงใจให้คนหันมาใช้จักรยานได้มากขึ้นจริง ในขณะเดียวกันในเมืองที่มีนักปั่นจำนวนมาก ก็สร้าง demand ให้กับทางจักรยานด้วย
แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะฟังดูไม่น่าแปลกใจนัก แต่ Burk ก็ได้ค้นพบข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจข้อหนึ่ง นั่นคือไม่ว่าจะเริ่มจากการสร้างเลนจักรยาน หรือจากพฤติกรรมของผู้ใช้ อัตรการประสบความสำเร็จของการสร้างวัฒนธรรมจักรยานในเมืองนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนจากองค์กรเหล่านั้น Burk พบว่าในเมืองที่มีผู้ใช้จักรยานจำนวนมาก เช่น Portland, Minneapolis, หรือ San Francisco นั้น องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งหลายมีบทบาทในการเรียกร้องให้มีการสร้างเลนจักรยานและโปรโมตการขี่จักรยานในฐานะหนทางการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หรืออีกนัยหนึ่ง อาจพูดได้ว่าการสร้างวัฒนธรรมจักรยานนั้น ต้องอาศัยการเรียกร้องทางการเมืองในลักษณะดังที่กล่าวไปในระดับหนึ่งด้วย