5 เทรนด์​ Digital Transformation ในแวดวงกฎหมาย

0

เรื่องราวของ Digital Transformation นั้นมีให้หาอ่านกันทั่วไป แต่สำหรับเทคโนโลยีในแวดวงกฎหมายนั้นอาจไม่เป็นที่ผ่านตานัก เว็บไซต์ Forbes สรุป 5 เทรนด์ของการทำ digital transformation มาให้พวกเราได้อ่านกัน ดังต่อไปนี้

1. Machine Learning

เรียกได้ว่าทุกวันนี้ไม่มีวงการใดที่ machine learning ไปไม่ได้ถึงเสียแล้ว และยิ่งในแวดวงกฎหมายที่การค้นคว้าข้อมูลเป็นเรื่องใหญ่ ในทุกๆคดีความ นักกฎหมายต้องอ่านเอกสารกองโตไม่ว่าจะเป็นประวัติลูกความ เนื้อหาคดี รายงานต่างๆ คำให้การ และข้อมูลอื่นๆนับไม่ถ้วน การใช้เทคนิค machine learning เข้ามาช่วยหาข้อมูลส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องกับคดีมากที่สุดจะทำให้นักกฎหมายสามารถประหยัดเวลาและคำนวณค่าใช้จ่ายเพื่อบอกลูกค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ดังที่ LexisNexis DiscoveryIQ หนึ่งในผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ช่วยนักกฎหมายในลักษณะดังกล่าวประเมินว่าการใช้เทคนิคนี้จะช่วยประหยัดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว

2. หุ่นยนต์ทนาย

หุ่นยนต์นักกฎหมายก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นไปไม่ได้ต่อไปแล้ว ดังที่เราได้เห็นกันในกรณีของ Do Not Pay ระบบช่วยเหลือด้านกฎหมายที่ทำงานโดยมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นเบื้องหลัง โดยระบบดังกล่าวได้ช่วยประชาชนให้ชนะคดีค่าปรับที่อาจมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้ให้บริการด้านกฎหมายแก่ผู้ใช้ไปแล้ว 375,000 คดีในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่เปิดทำการ

3. ความคล่องตัว

เมื่อโทรศัพท์สมาร์ทโฟนกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ในปัจจุบัน ลูกค้าและทนายความก็มีทางเลือกมากขึ้นในช่องทางการสื่อสาร เช่น การติดต่อกันผ่าน video call ที่ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งบ่อยครั้งเวลาที่ใช้ในการเดินทางนี้ถูกนับรวมไปในค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายด้วย

4. ติดตามการดำเนินการ

แน่นอนว่าอาชีพนักกฎหมายนั้นก็ย่อมมีการวัดผลการทำงานเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ โดยอาจจะวัดจากจำนวนลูกค้าที่หาได้ ค่าบริการที่ได้รับ หรือจำนวนคดีความที่ชนะ การเก็บสถิติเหล่านี้ในรูปแบบดิจิทัลจะช่วยให้บริษัทกฎหมายสามารถบริหารพนักงานได้ดียิ่งขึ้น เช่นการมอบหมายคดีความให้เหมาะสมตามสถิติการว่าความที่ผ่านมา หรือการแบ่งงานส่วนใดส่วนหนึ่งให้ทนายตามความถนัดที่บ่งชี้ออกมาจากสถิติที่มี

5. บริการกฎหมายออนไลน์

บริการกฎหมายออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน มีบริการออนไลน์ไม่น้อย เช่น LegalZoom ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนคนทั่วไปเข้ามาใช้บริการทางกฎหมายพื้นฐาน เช่น การเขียนพินัยกรรม หรือการตั้ง DBA (Doing Business As – ทำธุรกิจในนาม) ในราคาย่อมเยา ในโลกที่ประชากรสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นเรื่อยๆ การให้บริการออนไลน์นั้นอาจจะเข้ามาเป็นมิติใหม่ของวงการกฎหมายได้อย่างไม่ยากเย็นนัก