เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมอยู่แล้ว การสร้างโซลูชั่นก็ไม่เป็นเรื่องยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูงอีกต่อไป ดังที่ DHL จับมือกับ Huawei พัฒนาระบบจอดรถส่งของไปยังสายพานการผลิตที่รวดเร็วขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากเครือข่าย NB-IoT ที่ให้บริการโดย China Mobile ซึ่งโซลูชั่นดังกล่าวจะทดลองใช้ถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ที่ไซต์การผลิตยานยนต์ที่เมืองหลิวโจว ประเทศจีน
ระบบลอจิสติกส์ในการส่งของสู่ขั้นตอนการผลิต (inbound-to-manufacturing) แต่เดิมนั้นมีกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไรนัก โดยเฉพาะไซต์การผลิตที่มีรถเข้ามาส่งของเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าขึ้นได้หลายกรณี เช่น กรณีที่รถขนยางรถมาจอดส่งของ ณ จุดส่งของท้ายๆ ทั้งที่จริงๆแล้วยางรถนี้ต้องใช้ในจุดเริ่มต้นของสายพานการประกอบ ทำให้ต้องเสียเวลาในการขนย้าย อีกทั้งรถขนส่งที่ควรต้องส่งของในจุดดังกล่าวก็ไม่สามารถทำได้ จึงเกิดการเสียเวลาต่อไปเป็นทอดๆ
DHL และ Huawei แก้ปัญหานี้ด้วยการนำชิปเซ็ต NB-IoT ซึ่งสามารถติดตั้งได้ง่ายในต้นทุนไม่แพง ไปติดตั้งไว้ในบริเวณของการส่งของ โดยระบบทั้งหมดจะทำการติดต่อสื่อสารกันในเครือข่าย NB-IoT สาธารณะของ China Mobile ด้วยโซลูชั่นง่ายๆเช่นนี้ทำให้ DHL Supply Chain มีข้อมูลจุดจอดส่งของแบบ real-time อยู่ในมือ และเมื่อรถบรรทุกส่งของมาถึง คนขับรถสามารถตรวจสอบสถานะของจุดส่งของต่างๆผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ รับหมายเลขคิว และรอรับการแจ้งเตือนเมื่อตำแหน่งส่งของนั้นๆว่างได้
ระบบที่สามารถบอกสถานะของจุดส่งของในไซต์การผลิตได้แบบ real-time นี้จะช่วยให้ไซต์สามารถจัดการรถบรรทุกส่งของให้มาจอดอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้โดยง่าย จากการทดลองต้นแบบในจุดจอด 30 จุดและพนักงานขับรถ 100 คน พบว่าระบบดังกล่าวสามารถย่นระยะเวลาในการรอคอยลงได้ถึง 2 เท่า จากเดิมที่เวลาในการจอดรอเฉลี่ยอยู่ที่ 40 นาที
การทดลองใช้ระบบต้นแบบนี้จะสิ้นสุดลงในปลายเดือนกันยายนที่กำลังจะมาถึง โดยผู้พัฒนามีแผนที่จะเพิ่มฟีเจอร์ของระบบ เช่น การตรวจจับทะเบียนรถอัตโนมัติ และ geofencing เป็นต้น