ทิศทางของงานวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบันนั้นมีจำนวนไม่น้อยที่มุ่งเน้นไปที่การตรวจพบโรคให้ได้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจจากสารเคมีภายในร่างกาย จากรูปแบบของพฤติกรรม หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของสมองที่อาจเกิดขึ้นก่อนมีอาการกว่า 10 ปี เช่นงานวิจัยชิ้นนี้จากมหาวิทยาลัยแห่ง Bari ในอิตาลี
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Bari สอนระบบปัญญาประดิษฐ์ของพวกเขาให้มองหาความเปลี่ยนแปลงจากข้อมูลภาพสแกน MRI สมอง 67 ภาพ ซึ่งแบ่งเป็นภาพสแกนสมองผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ 38 ภาพ และภาพสมองของคนทั่วไป 29 ภาพ เมื่อได้รับรูปภาพเข้าไป ระบบดังกล่าวจะแบ่งภาพออกเป็นส่วนเล็กๆหลายส่วนแล้วทำการวิเคราะห์การเชื่อมต่อของเส้นประสาทในแต่ละส่วน
เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของระบบนี้ พวกเขาได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 148 คน ที่ประกอบไปด้วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 48 คน และผู้ที่เริ่มมีความผิดปกติในการสั่งการสมองเล็กๆน้อยซึ่งจะกลายมาเป็นโรคอัลไซเมอร์เต็มตัวในที่สุดอีก 48 คน ผลปรากฏว่าระบบสามารถตรวจจับอัลไซเมอร์ได้ด้วยความแม่นยำถึงร้อยละ 86 และสามารถตรวจกับความผิดปกติของสมอง (cognitive impairment) ได้ด้วยความแม่นยำร้อยละ 84
อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้นั้นมีข้อจำกัดอยู่ที่จำนวนของภาพสแกนที่ใช้ในการพัฒนาระบบนั้นยังยังมีน้อยอยู่ทำให้ระบบอาจมีความคาดเคลื่อนเมื่อนำไปใช้งานจริงได้ แต่หากในอนาคตมีข้อมูลตั้งต้นให้กับระบบมากขึ้น ประสิทธิภาพในการตรวจสอบก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้นตาม และอาจทำงานได้ดีจนสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยโรคได้ในที่สุด
การตรวจพบโรคอัลไซเมอร์ก่อนที่มันจะแสดงอาการนั้นนอกจากจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนในการรักษาและหาวิธีชะลออาการได้แล้ว ยังเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถวางแผนจัดการชีวิตของตนได้ ทั้งในเรื่องการงาน ครอบครัว การเงิน และการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพเมื่อแก่ตัวลง