รู้หรือไม่? ในปี 2017 กว่าร้อยละ 73 ของผู้บริหารกำลังศึกษาเทคโนโลยี Internet of Things โดยละเอียด และบางส่วนในจำนวนนั้นก็ได้ทำการติดตั้งระบบ IoT ไว้ใช้งานเรียบร้อยแล้ว ธุรกิจนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพราะอะไร แง่มุมไหนที่น่าสนใจในปี 2017 หาคำตอบได้ในสรุปรายงาน State of the Market: Internet of Things 2017 ฉบับนี้
ธุรกิจคาดหวังอะไรจาก IoT
เทคโนโลยี IoT ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความยั่งยืน ความปลอดภัย และผลกำไรของธุรกิจ จากการสำรวจที่ Verizon เป็นผู้ว่าจ้าง พบว่าองค์กรคาดหวังว่าการใช้ IoT นั้นจะช่วยให้พวกเขาสามารถมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยในการมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าให้กับพาร์ทเนอร์และลูกค้าได้
สถานการณ์ IoT ที่เปลี่ยนไปในปี 2017
ในปี 2017 นั้นเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่รายล้อมเทคโนโลยี IoT นี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นของโซลูชั่นแบบ end-to-end ที่สามารถนำไปใช้งานได้โดยง่าย, ราคาที่ถูกลงของระบบและโซลูชั่นเครือข่ายและ IoT, การนำ IoT ไปใช้ในการกำกับดูแล และข้อกำหนดที่เพิ่มมากขึ้น(ในสหรัฐฯ) เช่น การใช้ IoT เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร, กฎเกณฑ์ในการใช้งานโดรน
เทคโนโลยีและนวัตกรรม IoT มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกันราคาของเทคโนโลยีดังกล่าวก็ถูกลงอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนที่ถูกลงนี้จะทำให้มีการนำไปใช้ที่มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การค้นพบ use case ใหม่ๆในธุรกิจ เทคโนโลยีอย่าง NB-IoT และแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัยสูงที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในตลาดจะช่วยสร้างให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้ การเริ่มเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ที่เพิ่มความเร็วและขีดความสามารถในการส่งข้อมูลอาจช่วยให้ IoT รับมือกับปัญหาได้กว้างขึ้นด้วย
3 สิ่งที่ธุรกิจต้องการจาก IoT: Simplicity, scalability และ security
นอกจากประเด็นด้านความปลอดภัยที่ธุรกิจมีความกังวลดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การนำ IoT เข้ามาใช้นั้นธุรกิจยังต้องคำนึงถึงขั้นตอนในการติดตั้ง และการขยายขนาดของระบบเผื่อในอนาคต ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มและโซลูชั่นที่เข้ามาตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อนี้มากขึ้น และในอนาคตจะมีการใช้ IoT เพื่อสร้างผลกำไรด้วยวิธี data-driven มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นในตอนนี้ที่มีการใช้งาน IoT ในการทำ predictive maintenance, จัดการโกดังสินค้า สร้างระบบตรวจสอบสถานะและเชื่อมต่อระหว่างส่วนต่างๆของระบบ หรือการใช้ IoT เพื่อดูแลผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล
การมีแพลตฟอร์มทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น
เมื่อองค์กรมีข้อมูลจำนวนมหาศาลจากระบบ IoT สิ่งที่ต้องคิดต่อมาคือการจัดเก็บ นำไปใช้ และรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลเหล่านั้น การจัดการข้อมูลเหล่านี้อาจเคยเป็นประเด็นที่น่าปวดหัวในการพัฒนาระบบ IoT แต่สำหรับในปัจจุบันที่มีผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม IoT ขึ้นมามากมายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป การใช้แพลตฟอร์มจะช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการกับทุกอย่างของระบบได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่อุปกรณ์ IoT ไปจนถึงขั้นตอนการนำข้อมูลไปใช้ และการรักษาความปลอดภัยของระบบ
ความปลอดภัย – ความกังวลอันดับ 1 ของการใช้ IoT
อุปกรณ์จำนวนมากในเครือข่าย IoT ย่อมหมายถึงช่องทางในการโจมตีที่มากขึ้น และในทุกวันนี้ที่มีข่าวการโจมตีไซเบอร์ให้เห็นผ่านตากันอยู่บ่อยครั้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ความปลอดภัย(และความเป็นส่วนตัว)จะเป็นความกังวลอันดับ 1 ของธุรกิจ การรักษาความปลอดภัยของระบบ IoT ในองค์กรนั้นย่อมหมายถึงการเพิ่มความปลอดภัยกับทั้งตัวแอพพลิเคชัน อุปกรณ์ เครือข่าย และมนุษย์ผู้เกี่ยวข้องกับระบบ เช่นการใช้บริการที่คอยตรวจตาไม่ให้อุปกรณ์ในระบบสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆที่ไม่ได้รับความไว้วางใจ หรือการตั้ง authentication เพื่อกำหนดสิทธิของผู้เกี่ยวข้องในการเข้าถึงระบบ
ในส่วนของผลิตภัณฑ์เองนั้น นักพัฒนาก็เล็งเห็นความสำคัญของความปลอดภัยในระบบที่มีต่อธุรกิจมากขึ้น ทำให้เราได้เห็นสินค้าหรือบริการใหม่ๆในการรักษาความปลอดภัยภายในระบบ IoT รวมไปถึงการที่ความปลอดภัยกำลังกลายมาเป็นจุดขายสำคัญของแพลตฟอร์ม IoT ด้วย
โปรเจค IoT ในธุรกิจส่วนใหญ่
โปรเจค IoT ในธุรกิจปัจจุบันนั้นยังคงเป็นโปรเจคทดลองเสียส่วนมาก และธุรกิจส่วนใหญ่ในตอนนี้ รวมไปถึงแนวโน้มในอนาคตก็ยังคงมุ่งเน้นไปที่ use case ง่ายๆ เช่นการติดตามข้อมูลและการแจ้งเตือนสถานะ เนื่องจากเป็นระบบที่ติดตั้งง่าย และให้ผลลัพธ์ต่อธุรกิจอย่างรวดเร็ว แม้จะระบบดังกล่าวจะไม่ได้ใช้ศักยภาพของ IoT อย่างเต็มที่ก็ตาม
อะไรที่ยังคงเป็นอุปสรรคของการนำ IoT เข้ามาใช้ในธุรกิจ
แม้จะได้รับความสนใจมาก แต่การนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้งานจริงนั้นกลับยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยปัจจัยที่ผู้บริหารในการสำรวจยังเป็นกังวลต่อการนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้นั้นได้แก่
- การขาดมาตรฐานของการใช้ IoT ในอุตสาหกรรม และการรักษาความปลอดภัย
- การเชื่อมต่อกับระบบที่มีอยู่และการนำข้อมูลไปใช้
- ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ การสำรวจโดย McKinsey & Company ยังได้กล่าวถึงปัญหาอีก 2 ข้อที่กระทบต่อการใช้ IoT ได้แก่ โครงสร้างขององค์กร เช่น การจัดสรรงบประมาณ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ และการขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเทคโนโลยีดังกล่าว