การรถไฟของประเทศอินเดีย Indian Railways เริ่มใช้งานระบบเฝ้าระวังซึ่งสามารถตรวจสอบสถานะของระบบเดินรถไฟได้ตลอดเวลา และทำนายว่าจะมีแนวโน้มจะเกิดสัญญาณล้มเหลวหรือไม่ ด้วยพลังแห่งเทคโนโลยีอย่าง Internet of Things, Big Data, และปัญญาประดิษฐ์
ระบบเฝ้าระวังดังกล่าวนี้จะคอยตรวจสอบและส่งข้อมูลสถานะของส่วนประกอบต่างๆภายในระบบเดินรถไฟผ่านเซ็นเซอร์ ซึ่งก็มีตั้งแต่สถานะของรางรถไฟ การทำงานของ axle counter ที่ใช้ในการควบคุมไม้กั้นรถไฟอัตโนมัติและส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ระบบไฟฟ้าภายใน รีเลย์ ไปจนถึงระบบจับเวลา
ข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์นั้นจะถูกส่งไปยังระบบควบคุมส่วนกลางผ่านเครือข่ายไร้สาย เช่น 3G และ 4G และจะถูกนำไปผ่านกระบวนการที่ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ big data และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการทำนายหรือแจ้งเตือนถึงปัญหาอาจเกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถรับรู้ถึงปัญหาได้ก่อนที่มันจะเกิด หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถรู้ถึงสาเหตุของปัญหาได้โดยทันที
โดยนอกจากตัวระบบจะสามารถทำนายได้ถึงปัญหาสัญญาณล้มเหลวได้แล้ว ยังมีกลไกที่ทำให้มันสามารถซ่อมแซมตัวเอง หรือแนะนำกลยุทธในการรับมือกับปัญหาจากข้อมูลที่มีอยู่ในมือด้วย
Indian Railways ได้ทำการนำร่องเปิดทดลองระบบที่ว่านี้ในส่วนหนึ่งของเส้นทางการเดินรถ Ahmedabad-Vadodara และ Bengaluru-Mysuru ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินรถไฟสายตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ตามลำดับ โดยทางการรถไฟมีเป้าหมายที่จะขยายขอบเขตของระบบออกไปเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับ feedback ที่ได้รับด้วย
ระบบดังกล่าวที่อินเดียกำลังเริ่มการใช้งานนี้ปัจจุบันถูกใช้อยู่ในประเทศสหราชอาณาจักร และขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนี รัสเซีย และเกาหลีใต้ ก็ได้มีการเริ่มติดตั้งระบบที่ใช้งานเทคโนโลยี IoT, big data, และปัญญาประดิษฐ์ในการเข้ามาช่วยบำรุงรักษาระบบก่อนกาล หรือ predictive maintenance กันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทำ predictive maintenance นี้นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและยกระดับประสบการณ์การโดยสารให้แก่ลูกค้าแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการ ซึ่งรวมไปถึงค่าซ่อมแซมฉุกเฉิน ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกด้วย