Citizen Ticket พัฒนาระบบจำหน่ายตั๋วบน Blockchain พอกันทีกับสารพัดปัญหาตั๋วมือสอง

0

หากคุณคิดจะซื้อตั๋วคอนเสิร์ตไปดูศิลปินโปรดสักใบหนึ่ง แต่ดันซื้อผ่านการขายอย่างเป็นทางการไม่ทัน นี่คือปัญหาที่คุณอาจต้องเผชิญ ตั๋วมือสองราคาสูงลิบลิ่วจากการเก็งกำไรของพ่อค้าแม่ค้าสมองใส ตั๋วปลอม ตั๋วผี และอีกสารพัดความวุ่นวายในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ซึ่งนอกจากลูกค้าแล้ว ปัญหานี้ก็ยังส่งผลกระทบไปถึงผู้จัดงานและตัวศิลปินเองได้เหมือนกัน

ที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การจำกัดเงื่อนไขการซื้อจากตัวแทนจำหน่าย การตรวจตาของเจ้าหน้าที่ภายในบริเวณ การรวมตัวกันบอยคอยผู้ขายเก็งกำไร ไปจนไปถึงการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการขายต่อที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่นในบางรัฐของออสเตรเลียที่ห้ามจำหน่ายตั๋วมือสองเกิน 20% ของราคาหน้าบัตร แต่การแสวงหาหนทางใหม่ๆก็ยังเกิดขึ้นเสมอ

หนทางที่จะสร้างเงื่อนไขผูกกับตัวบัตร ป้องกันการปลอมแปลง ลดปัญหาเก็งกำไร และช่วยให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างง่ายดายและโปร่งใสที่สุด คุ้นๆกันไหมว่าปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบโจทย์กับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างครอบคลุมเลยทีเดียว

เทคโนโลยีที่ว่านี้ ก็คือเทคโนโลยี blockchain นั่นเอง

Citizen Ticket สตาร์ทอัพจากสหราชอาณาจักรก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2013 เพื่อต่อสู้กับปัญหา”ความอยุติธรรม”ในอุตสาหกรรมการขายตั๋ว ไม่ว่าจะเป็นการเก็งกำไร การปลอมแปลงตั๋ว ค่าธรรมเนียมการซื้อตั๋วที่ไม่เป็นธรรม หรือเว็บไซต์ขายตั๋วมือ 2 ที่มีเครือข่ายกับเว็บขายตั๋วอย่างเป็นทางการ ด้วยการทำตัวเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายตั๋วให้กับ organizer งานอีเวนท์ที่ต้องการความเป็นธรรมต่อผู้ร่วมงานมากขึ้น

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2017 ที่ผ่านมานี้ Citizen Ticket ได้ทำการเปิดตัว BitTicket ระบบซื้อขายตั๋วที่สร้างอยู่เครือข่าย blockchain Ethereum Classic ระบบดังกล่าวนี้ใช้กลไก smart contract ในการควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนตั๋วแต่ละใบ เพื่อป้องกันการซื้อเพื่อเก็งกำไร และอาศัยคุณสมบัติเฉพาะตัวของเทคโนโลยี blockchain ในการสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายตั๋วที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ควบคุมง่าย และปราศจากการปลอมแปลงตั๋วโดยสิ้นเชิง

เมื่อเกิดการซื้อขาย ตั๋วในแพลตฟอร์ม BitTicket นี้จะถูกสร้างและจัดเก็บอยู่ในเครือข่าย blockchain ซึ่งแต่ละใบนั้นก็จะถูกผูกกับเงื่อนไขที่ผู้จัดงานประสงค์ เช่น ผู้ใช้ 1 ท่านสามารถซื้อตั๋วได้จำกัด 2 ใบ หรือ ตั๋ว early bird นั้นไม่สามารถนำไปขายต่อได้ 3 วันหลังการซื้อ ซึ่งตั๋วนี้ก็ทำงานเหมือนตั๋วอิเล็คทรอนิกส์ทั่วไป ที่ผู้ใช้สามารถปรินท์ออกมา หรือแสดง QR code เพื่อเข้างานอีเวนท์นั้นๆ

BitTicket มาพร้อมกับระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนตั๋วมือสองของตัวเองโดยเฉพาะ ที่มีการยืนยันตัวตนเพื่อซื้อขาย โดยทางระบบจะตรวจสอบการซื้อจำนวนมากเพื่อจำไปขายต่อในเว็บไซต์อื่นๆ หรือการซื้อเพื่อเก็งกำไรอยู่ตลอดเวลา หากตรวจพบผู้ต้องสงสัย ทางทีมงานอาจทำการระงับบัญชีผู้ใช้ ยกเลิกตั๋ว และตรวจสอบตัวตนของเจ้าของบัญชีได้

ปัจจุบันแพลตฟอร์มซื้อขายตั๋วอย่างยุติธรรมของ Citizen Ticket นี้ มีผู้จัดงานมาร่วมใช้กันจำนวนไม่น้อย แม้ในเบื้องต้นจะยังเป็นงานอีเวนท์เล็กๆระดับท้องถิ่นที่อาจไม่ได้มีผู้เข้าร่วมมากมายนัก แต่ก็ถือเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงให้เราได้เห็นว่าตัวผู้จัดเองก็คำนึงถึงปัญหาของระบบซื้อขายตั๋วทั่วไปในปัจจุบันเช่นกัน

พันธกิจที่ Citizen Ticket ตั้งมั่นคือการให้บริการแพลตฟอร์มจำหน่ายตั๋วที่โปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน พวกเขาเรียกร้องผ่านหน้าเว็บใช้ให้ผู้จัดงาน”แสดงความกล้าและทำลายสถานภาพแห่งความฉ้อโกงในปัจจุบัน”ด้วยการใช้แพลตฟอร์มของพวกเขา

ปัญหานี้อาจเป็นปัญหาที่ไม่หนักหนาสาหัสนักเมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆในโลกที่ blockchain ถูกนำไปใช้งาน แต่มันก็เป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคจริง และกัดกินวงการการซื้อขายตั๋วมายาวนาน และหากการนำเทคโนโลยีมาใช้จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้แม้เพียงเล็กน้อย ก็นับเป็นเรื่องน่ายินดีและสนับสนุนต่อไป