5 ข้อคิดการวางกลยุทธนวัตกรรมขององค์กรจาก PwC

0

ในโลกปัจจุบันที่ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเกิด disruption อยู่ตลอดเวลา การหันหน้าเข้าหานวัตกรรมไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือกหนึ่งขององค์กรเสียแล้ว องค์กรไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อเปิดรับกับธรรมชาติใหม่ของการทำธุรกิจนี้ มาดูกันว่าการสำรวจของ PwC ให้ข้อคิดไว้อย่างไรกับการวางกลยุทธนวัตกรรมให้กับธุรกิจ

1. กลยุทธสำคัญพอๆกับจำนวนเงินในการลงทุนเพื่อนวัตกรรม

การลงทุนในนวัตกรรมนั้นแน่นอนว่าองค์กรส่วนมากคาดหวังว่ามันจะทำให้ธุรกิจมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และแนวคิดเช่นนี้ก็เป็นแนวคิดที่ไม่ผิดอะไรนัก เพราะการสร้างผลกำไรย่อมเป็นเป้าหมายของการทำธุรกิจทั่วไปอยู่แล้ว ทว่าจากการศึกษา Global Innovation 1000 ที่ PwC จัดทำขึ้นรายปีในช่วง 12 ปีย้อนหลังมานี้ กลับพบว่าจำนวนเงินลงทุนในนวัตกรรมนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสถิติต่อผลกำไรของบริษัทเลยแม้แต่น้อย จึงอาจสรุปได้ว่าการวางแผนการใช้จ่ายและลงทุนในนวัตกรรมให้เหมาะสมนั้น สำคัญพอๆกับเม็ดเงินที่บริษัทมีให้กับการลงทุน และจำนวนเงินที่มากก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถสร้างผลกำไรหรือเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นเสมอไป

2. กลยุทธนวัตกรรมต้องไปกันได้กับกลยุทธทางธุรกิจโดยรวม

กว่าร้อยละ 54 ของบริษัทที่ PwC ได้ทำการสำรวจนี้ประสบปัญหาในการ”เชื่อม”ระหว่างกลยุทธทางนวัตกรรมและกลยุทธทางธุรกิจ และมันถูกจัดให้เป็นประเด็นที่พวกเขาคิดว่าเป็นความท้าทายทางกลยุทธที่ยากที่สุดในการเปิดรับนวัตกรรมเข้ามาในองค์กรเป็นอันดับ 1 การวางแผนให้กลยุทธทางนวัตกรรมมีความสอดคล้องกับกลยุทธทางธุรกิจโดยรวมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ภายในองค์กรเป็นอย่างมาก โดยวิธีหนึ่งที่อาจช่วยแก้ไขปัญหานี้นั้นก็ได้แก่การทำให้ผู้ที่รู้เรื่องของกลยุทธทางธุรกิจเป็นอย่างดีมามีส่วนร่วมในทิศทางของนวัตกรรมตั้งแต่แรกเริ่ม

3. นวัตกรรมอาจหมายถึงการทำลายอะไรเก่าๆ

การสร้างและการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในองค์กรนั้นอาจหมายถึงการทำลายกรอบเก่าๆทั้งในและนอกองค์กรด้วยการเปลี่ยนขอบเขต เปลี่ยนไอเดีย เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนผู้ดำเนินการ ซึ่งอาจรวมไปถึงการทำลายรูปแบบของสินค้าและบริการที่ออกมาจากตัวธุรกิจ 100% ไปเป็นสินค้าและบริการที่ทั้งลูกค้า พาร์ทเนอร์ และคนอื่นๆมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย

แนวทางของการแข่งขันและทำ R&D ในสมัยก่อนนั้นอาจไม่เพียงพอเสียแล้วในวันที่นวัตกรรมกินขอบเขตความรู้และไอเดียที่กว้างจนธุรกิจอาจจินตนาการไม่ถึง การร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ๆ เช่นโครงการ open innovation, การทำ design thinking ,และการสร้างสรรค์ร่วมกับพาร์ทเนอร์จะเข้ามามีบทบาทมากกว่าการทำ R&D แบบทั่วไปในปัจจุบัน

หนึ่งสิ่งที่ธุรกิจเริ่มมีการทำกันอย่างแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆคือการเปิดให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดโครงร่างของนวัตกรรมให้กับองค์กร โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในแบบ real-time ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งลูกค้านั้นจะเข้ามาเป็นตัวละครสำคัญใน feedback loop ของการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งการเข้าถึงลูกค้าจริงตั้งแต่แรกเริ่มจะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการด้วยหลักการ fail fast ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างนวัตกรรมที่มีคุณภาพและถูกใจลูกค้าได้

4. ประสบการณ์ของทีมงานยังคงเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้

การสร้างนวัตกรรมนั้นอาศัยความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากสมาชิกภายในองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน และนวัตกรรมที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากองค์กรมองข้ามความสำคัญของประสบการณ์ในการทำงานของคนในทีม ดังเช่นที่การวิเคราะห์ข้อมูล big data สามารถบอกเราได้ถึงพฤติกรรมของลูกค้า แต่ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจต่างหากที่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมลูกค้าจึงมีพฤติกรรมเช่นนนั้น

นอกจากประสบการณ์แล้ว อย่างหนึ่งที่ลืมไปไม่ได้คือการสร้างวัฒนธรรมที่มีบรรยากาศ ความคิดสร้างสรรค์ และบุคลากรที่เหมาะสมนั้นก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ราวๆ 2 ใน 3 ขององค์กรจากการสำรวจเห็นว่าการมีพนักงานที่มีความคิดแปลกใหม่และมีพฤติกรรมกล้าคิดกล้าลองนั้นเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรม

5. นวัตกรรมส่วนใหญ่มาพร้อมกับเทคโนโลโยี

แม้เทคโนโลยีอาจไม่ใช่ทุกอย่างของนวัตกรรม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำคัญของมันนั้นมีอยู่มากโข โดยเฉพาะกับนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนทุกอย่างโดยสิ้นเชิง ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีความสำคัญมากกับธุรกิจในทุกภาคส่วน ไม่เหมือนดั่งสมัยก่อนที่มันเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อไล่ตามความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า หรือกลเม็ดใหม่ๆของคู่แข่งเท่านั้น เทคโนโลยีเข้ามาปั่นป่วนทุกอย่างจนมันแทบกลายเป็นมาตรฐานในการทำธุรกิจ และมันก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมขององค์กร

เทคโนโลยีถูกธุรกิจนำมาใช้สร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการที่แม้แต่ตัวผู้บริโภคเองก็ยังไม่รู้ว่าตนมี เกือบ 1 ใน 3 ของธุรกิจใช้เทคโนโลยีเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดค้นนวัตกรรม และเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทเหล่านั้นมุ่งเป้าหมายไปที่การคิดค้นนวัตกรรมในระดับ breakthrough ในขณะที่อีก 1 ใน 3 สร้างสรรค์โดยการเทคโนโลยีร่วมกับความต้องการทางตลาด ความสำคัญเช่นนี้ของเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆหันไปจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัททางเทคโนโลยีสูงมาเป็นอันดับหนึ่ง และมีความสนใจที่จะจ้างงานผู้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีมากขึ้น


 

(การสำรวจนี้ PwC ได้จัดทำจากการพูดคุยกับผู้บริหารที่มีส่วนตัดสินใจด้านนวัตกรรมมากกว่า 1,200 คนใน 44 ประเทศทั่วโลก)