นักวิทยาศาสตร์จีนทดลองติดตั้ง”อุปกรณ์” IoT ในอวกาศ

0

การเชื่อมต่อระบบ Internet of Things ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ถูกกำจัดอยู่เฉพาะในพื้นผิวโลกเสียแล้วเมื่อนักวิทยาศาสตร์จีนมีไอเดียเจ๋งๆอย่างการแปลงส่วนท้ายของจรวดให้กลายเป็นที่อยู่ของชิปขนาดจิ๋วที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบ IoT ได้

ในการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศในแต่ละครั้ง ส่วนท้ายของจรวดนั้นจะถูกปลดออกหลังดาวเทียมได้เข้าไปอยู่ในวงโคจรเรียบร้อยแล้วเสมอ ส่วนที่ถูกปลดออกนี้จึงกลายเป็นขยะอวกาศที่ลอยเคว้งคว้างและสามารถสร้างความเสียหายให้กับยานอวกาศ ดาวเทียม หรือแม้แต่สถานีวิจัยอวกาศนานาชาติ (ISS) ได้ โครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัย Fudan ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน จึงได้เกิดไอเดียนำส่วนที่ถูกทิ้งดังกล่าวมาใช้ประโยชน์เสีย

ในการทดลองจริงหลังการศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์มาเป็นเวลากว่า 2 ปีในครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ในโครงการได้ทำการติดตั้งระบบชิปอัจฉริยะหลายตัวที่แต่ละส่วนมีน้ำหนักน้อยกว่า 30 กรัม ลงบนส่วนท้ายสุดของจรวด Long March 4C ซึ่งทำหน้าที่ส่งดาวเทียม Fengyun-3D ขึ้นสู่อวกาศในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อแปลงขยะอวกาศชิ้นดังกล่าวเป็น “nanosatellites” ซึ่งจะกลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบ IoT ในอวกาศ

ระบบชิปอัจฉริยะดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า Xinyun ซึ่งหมายถึงกลุ่มเมฆของชิป

“ด้วยชิปอัจฉริยะเหล่านี้ ขยะอวกาศจะถูกเปลี่ยนเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีต้นทุนต่ำ และแพลตฟอร์มการสื่อสารได้” Zheng Lirong หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ในโครงการนี้กล่าว

Zheng ยังได้กล่าวต่อไปถึงความเป็นไปได้ที่เครือข่ายในอวกาศนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความครอบคลุมของสัญญาณในพื้นที่ที่ห่างไกล อีกทั้งยังอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยจัดการกับขยะอวกาศจากการปล่อยจรวดที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดาขยะอวกาศทั้งหมด

ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นยังอยู่ในช่วงของการทดลอง และทางทีมงานก็กำลังทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้และศึกษาเส้นทางวงโคจรของ nanosatellite ตัวดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ในตอนนี้นั้นระบบดังกล่าวได้ขึ้นไปอยู่บนชั้นอวกาศแล้วมากกว่า 430 ชั่วโมงโดยไม่มีปัญหาในการสื่อสารแต่อย่างใด โดยทางโครงการจะทำการทดสอบการทำงานของระบบชิปนี้ไปอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องของการใช้พลังงาน ความมั่นคงของระบบ และในประเด็นอื่นๆ