ไปรษณีย์ไทยจับมือ Hitachi ร่วมทดลองระบบจดหมายดิจิทัล ส่งข้อมูลจากภาครัฐถึงประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

0

การติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายแม้ว่าจะถูกทดแทนที่ด้วยอีเมล์ไปเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังนับว่ามีความสำคัญอยู่ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการสื่อสารจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ และแน่นอนว่าเทคโนโลยีนั้นสามารถทำให้การส่งจดหมายเหล่านี้นั้นมีประสิทธิภาพขึ้นได้ ดังโครงการที่ไปรษณีย์ไทยและ Hitachi Asia กำลังทำการทดลองอยู่ในขณะนี้

Hitachi Asia (Thailand) Co., Ltd. ได้บรรลุข้อตกลง MoU ร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ในความร่วมมือกันพัฒนาระบบข้อมูลที่จะทำให้ไปรษณีย์ไทยสามารถสร้างสรรค์บริการรูปแบบใหม่ๆได้ ซึ่งในส่วนแรกของ MoU ที่ว่านี้ คือการทดลอง proof of concept ระบบส่งข้อมูลที่จะทำให้ภาครัฐสามารถส่งข้อมูลไปยังประชาชนชาวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยในขั้นแรก ไปรษณีย์ไทยจะทำการทดลองระบบ digital post ที่จะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานของรัฐ ไปรษณีย์ไทย และประชาชน ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐสามารถส่งข้อมูลหรือเอกสารมายังไปรษณีย์ไทยด้วยระบบดิจิทัล และเมื่อไปรษณีย์ไทยได้รับข้อมูลดังกล่าวแล้ว จะสามารถดำเนินการจัดส่งข้อมูลเหล่านั้นไปยังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของจดหมายตีพิมพ์ หรือในรูปแบบดิจิทัลซึ่งประชาชนสามารถเข้าดูจากคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนได้

Photo: Hitachi

ระบบดังกล่าวนี้ยังรวมไปถึงการบันทึกข้อมูลการรับจดหมาย หรือการเปิดอ่านผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อแจ้งให้ไปรษณีย์ไทยและหน่วยงานเจ้าของข้อมูลได้ทราบถึงสถานะ และนำสถิติดังกล่าวไปใช้ในลำดับถัดๆไปอีกด้วย

นอกจากหน่วยงานของรัฐแล้ว โครงการดังกล่าวยังมีแผนการในการทดลองระบบในลักษณะเดียวกันกับประกาศจากภาครัฐในรูปแบบอื่นๆ หรือประกาศจากหน่วยงานเอกชน ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานต่างๆสามารถสื่อสารได้อย่างดียิ่งขึ้น ประชาชนมีทางเลือกในการรับข้อมูลมากขึ้น ไปรษณีย์ไทยมีระบบการกระจายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำข้อมูลมาใช้ได้มากขึ้น ซึ่งจะยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรของไปรษณีย์ไทย

จากการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารของญี่ปุ่นถึงระบบในรูปแบบเดียวกันนี้ พบว่าระบบเครือข่าย digital post สำหรับการสื่อสารภาครัฐนั้นมีส่วนช่วยในการลดช่องว่าง information gap ระหว่างผู้ที่สามารถใช้เทคโนโลยี (เช่นสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์) เพื่อรับข้อมูลข่าวสาร กับผู้ที่ไม่มีความสามารถนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหวังว่า การใช้ระบบดังกล่าวในประเทศไทย จะให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจในทำนองเดียวกัน