OECD: “หุ่นยนต์และ AI จะแย่งงานมนุษย์น้อยกว่าที่เคยคิดกัน”

0

รายงานใหม่จากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ชี้ หุ่นยนต์จะแย่งงานมนุษย์น้อยกว่าที่เคยคิดกัน เพราะงานส่วนใหญ่นั้นต้องการความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์ และการให้เหตุผลขั้นสูง ซึ่งเป็นงานยากสำหรับระบบอัตโนมัติ

ก่อนหน้านี้ ในบทสนทนาเรื่องความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ เรามักได้เห็นการอ้างถึงงานวิจัย The future of employment: How susceptible are jobs to computerisation? ที่ถูกตีพิมพ์ขึ้นในปี 2013 โดย Carl Frey และ Michael Osborne จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ได้ระบุว่าตำแหน่งงานกว่าร้อยละ 47 ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีความเสี่ยงต่อการถูกแทนที่โดยคอมพิวเตอร์

ทว่ารายงานฉบับล่าสุดของ OECD นี้กลับเผยถึงผลการศึกษาที่แตกต่าง โดยได้ชี้ว่า เพียงร้อยละ 14 ของตำแหน่งงานในกลุ่มประเทศ OECD เท่านั้น ที่สามารถเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติได้สูง และตำแหน่งงานส่วนใหญ่นั้นจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติได้ยาก เพราะการทำงานนั้นอาศัยความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์ และการให้เหตุผลขั้นสูง ที่ยังเป็นข้อจำกัดของระบบปัญญาประดิษฐ์อยู่

ความน่าสนใจของรายงาน Automation, skills use and training นี้ คือการใช้ข้อมูลที่เปรียบเทียบงานของผู้มีตำแหน่งงานเดียวกัน (เช่น พนักงานซ่อมบำรุงรถในโรงงานขนาดใหญ่ และพนักงงานซ่อมบำรุงรถในอู่ซ่อมรถอิสระ) มาร่วมศึกษาถึงความน่าจะเป็นที่ตำแหน่งงานจะถูกแทนที่ ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นมีความแตกต่าง (กล่าวคือ แม้ตำแหน่งจะเป็นพนักงานซ่อมบำรุงเหมือนกัน แต่ผู้ที่ทำงานในโรงงานขนาดใหญ่อาจมีแนวโน้มถูกแทนที่มากกว่า ด้วยลักษณะของงานที่เป็นระบบมากกว่า และขอบเขตที่อาจแคบกว่างานในอู่)

อย่างไรก็ตาม แม้รายงานฉบับดังกล่าวจะเชื่อว่าความกังวลเรื่องการแย่งงานนั้นจะมี”มากจนเกินไป” และมีตัวเลขของตำแหน่งงานที่มีแนวโน้มถูกแทนที่ต่ำกว่าในรายงานอื่นๆ แต่โดยรวมแล้วตำแหน่งงานที่จะถูกแทนที่นั้นก็ยังมีจำนวนที่สูง โดยรายงานได้คาดการณ์ว่า ตำแหน่งงานกว่า 66 ล้านตำแหน่ง ใน 32 ประเทศ และตำแหน่งงานในประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น และประเทศแถบยุโรปตอนใต้และตะวันออก มีแนวโน้มที่จะถูกแทนที่มากที่สุด

รายงานของ OECD ฉบับนี้นั้นก็ยังได้ย้ำอีกครั้งว่ากลุ่มงานที่จะถูกแทนที่มากที่สุดนั้นคืองานที่ใช้ทักษะความรู้ต่ำ โดยเฉพาะในงานการเตรียมอาหาร การทำความสะอาด แรงงานที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง แรงงานก่อสร้าง และตำแหน่งงานด้านการผลิต โดยแนะให้ประเทศต่างๆปรับปรุงนโยบายฝึกอาชีพและการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ให้ดีขึ้น เพื่อเตรียมแรงงานเหล่านี้ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในครั้งนี้